วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ชุดการสอน 1 (ศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์)

ความหมายของชุดการสอน

จากความหมายที่นักการศึกษาและเทคโนโลยีการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ พอสรุปได้ว่าการสอน หมายถึง ชุดสื่อประสมซึ่งผลิตขึ้นมาอย่างมีระบบ มีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จในตัวเอง โดยมีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับเนื้อหาวิชาประสบการณ์ที่สามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ชุดการสอนเป็นนวัตกรรมในการผลิตและการใช้สื่อการสอน ที่เริ่มมีบทบาทต่อการเรียนการสอนทุกระดับในปัจจุบันและในอนาคต เพราะชุดการสอนจะเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะชุดการสอนเป็นระบบของการวางแผนการสอนที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของเนื้อหาวิชานั้นๆจึงทำให้เกิดประโยชน์และคุณค่าในการเรียนการสอนอย่างมาก

1.1 ความหมายของชุดการสอน
ความหมายของชุดการสอน นักการศึกษาและนักเทคโนโลยีทางการศึกษาทั้งของไทยและต่างประเทศได้ให้นิยามไว้ดังนี้
ชุดการสอน หมายถึง กระบวนการจัดเนื้อหาวิชาให้แก่ผู้เรียนอย่างมีระบบประกอบด้วยเนื้อหา ซึ่งอยู่ในรูปของสื่อการสอนประเภทต่างๆ ส่วนมากบรรจุไว้ในกล่อง และนำเคลื่อนย้ายไปในที่ต่างๆ ได้ (พงษ์ศักดิ์ ปัญจพรผล, 2518)
ชุดการสอนเป็นระบบการนำสื่อประสมที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชา และประสบการณ์ของแต่ละหน่วยมาช่วยในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ชุดการสอนนิยมจัดไว้ในกล่องหรือซอง แยกเป็นหมวดๆภายในชุดการสอนจะประกอบ ด้วยคู่มือการสอนใช้ชุดการสอน สื่อการสอนที่สอดคล้องกับเนื้อหาและประสบการณ์อาทิ เช่น รูปภาพ สไลด์เทป ภาพยนตร์ แผ่นคำบรรยาย วัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น (ชัยยงค์ พรหมวงศ์, 2521)
ชุดการสอน หมายถึง ระบบการผลิตและการนำสื่อการเรียนหลายๆอย่างมาสัมพันธ์กันและมีคุณค่าส่งเสริมซึ่งกันและกัน สื่อการเรียนเหล่านี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สื่อประสมนำมาใช้ให้สอดคล้องกับเนื้อหาวิชา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2525)
ชุดการสอน เป็นสื่อประสมที่ได้จากระบบการผลิตและการนำสื่อการสอนที่สอดคล้องกับวิชาและวัตถุประสงค์ ช่วยให้ผู้เรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามความสามารถ หรือทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มให้ผู้เรียนได้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ (สันทัด ภิบาลสุข และ พิมพ์ใจ ภิบาลสุข, 2525)
ชุดการสอน หมายถึง การวางแผนโดยใช้สื่อต่างๆร่วมกันหรือหมายถึงการใช้สื่อประสมเพื่อสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง และเป็นไปตามจุดประสงค์ที่วางไว้ โดยจัดไว้ในลักษณะเป็นซองเป็นกล่อง (วาสนา ชาวหา, 2525)
ชุดการสอน หมายถึง สื่อการเรียนหลายอย่างประกอบกันจัดเข้าไว้ด้วยกันเป็นชุด (Package) เรียกว่าสื่อประสม (Multimedia) เพื่อมุ่งให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมีชื่อเรียกหลายอย่างเช่น Learning Package, Instructional Kits หรือ Self Instructional Unit (บุญชม ศรีสะอาด, 2528)
ชุดการสอน หมายถึงการใช้สื่อการสอนตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ร่วมกันเพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้ตามที่ต้องการ สื่อนำมาใช้ร่วมกันจะต้องส่งเสริมประสบการณ์ ซึ่งกันและกันตามลำดับขั้นที่จัดไว้เป็นชุด บรรจุในกล่องหรือกระเป๋า (บุญเกื้อ ครวญหาเวช. 2530)
ชุดการสอน หมายถึง การรวมเอาวัสดุเพื่อการเรียนการสอนที่ประกอบด้วยสื่อมากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไป มาจัดระบบไว้อย่างเกี่ยวเนื่องกันในการสอนเนื้อหาวิชาใดวิชาหนึ่ง (วารินทร์ รัศมีพรหม, 2531)
ชุดการสอน เป็นชุดของวัสดุอุปกรณ์และกระบวนการเกี่ยวกับการเรียนการสอนที่ประกอบด้วย องค์ประกอบพื้นฐาน ได้แก่ กิจกรรมการเรียนและการประเมินผล (Gordon, 1973)
ชุดการสอน เป็นรูปแบบของการสื่อสารระหว่างครูและนักเรียน ซึ่งประกอบด้วย คำแนะนำที่จะให้นักเรียนได้ประกอบกิจกรรมการเรียนการเสนอ จนบรรลุพฤติกรรมที่เป็นผลของการเรียนรู้และเนื้อหาบทเรียนจะต้องเขียนด้วยภาษาที่ชัดเจน และสามารถสื่อความหมายให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมตามเป้าหมายได้ (Kapfer, 1972)
จากความหมายที่นักการศึกษาและเทคโนโลยีการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศที่กล่าวมาแล้ว จึงพอสรุปได้ว่าการสอน หมายถึง ชุดสื่อประสมซึ่งผลิตขึ้นมาอย่างมีระบบ มีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จในตัวเอง โดยมีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับเนื้อหาวิชาประสบการณ์ที่สามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1.2 บทบาทและความสำคัญของชุดการสอน
ชุดการสอนเป็นวัตกรรมในการผลิตและการใช้สื่อการสอน ที่เริ่มมีบทบาทต่อการเรียนการสอนทุกระดับในปัจจุบันและในอนาคต เพราะชุดการสอนจะเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะชุดการสอนเป็นระบบของการวางแผนการสอนที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของเนื้อหาวิชานั้นๆจึงทำให้เกิดประโยชน์และคุณค่าในการเรียนการสอนอย่างมาก ดังนั้นในปัจจุบัน ชุดการสอนจึงมีบทบาทที่สำคัญต่อการเรียนการสอนและการจัดการศึกษาพอสรุปได้ดังนี้
1. มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการเรียนการสอน
การใช้ชุดการสอนจะทำให้ลักษณะการเรียนการสอนในชั้นเรียน เปลี่ยนแปลงไปจากการเรียนการสอนที่ยึดครูเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ มาสู่การให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมเรียนรู้ด้วยตนเอง และทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน โดยเนื้อหาและประสบการณ์ต่างๆ ที่สื่อการเรียนการสอนที่มีความสมบูรณ์ที่ผู้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ครูจะมีบทบาทเป็นเพียงผู้ประสานงานให้การทำกิจกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น สภาพของห้องเรียนจะเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวาที่ผู้เรียนมีความเคลื่อนไหวสนใจในการเรียนและทำกิจกรรม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์อย่างเต็มที่
2. มีบทบาทต่อการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น
ชุดการสอน เป็นระบบการนำสื่อประสมที่สอดคล้องและสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายเนื้อหาวิชาและประสบการณ์ของหน่วยใดหน่วยหนึ่งโดยเฉพาะ มีสื่อการสอนที่อยู่ในรูปวัสดุ อุปกรณ์ หรือวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการเกิดการเรียนรู้เนื้อหาวิชาได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ได้เรียนรู้จากชุดการสอนแล้ว
3. ชุดการสอนมีบทบาทที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของปริมาณประชากรที่ต้องการศึกษาเพิ่มขึ้น และวิทยาการ ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยชุดการสอนสามารถจัดให้เกิดการเรียนรู้ได้พร้อมกันเป็นจำนวนมากๆ ได้ ชุดการเรียนรายบุคคลทั้งระบบทางไกลและใกล้เป็นต้นและนอกจากนี้ชุดการสอนยังสามารถปรับเปลี่ยนและแก้ไขให้เกิดความรู้และวิทยาการที่ใหม่ๆ ได้
4. มีบทบาทสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ไปสู่ปรัชญาการศึกษาในแนวพัฒนาการได้
อย่างเต็มที่
โดยที่ชุดการสอน เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นที่ตัวเรียนเป็นสำคัญ ยึดหลักให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ครูเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำและประสานกิจกรรมให้เกิดการเรียนจากการได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนรู้จากการกระทำ (Learning by doing) อันจะทำให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ตรงและถาวรยิ่งขึ้นได้


1.3 ประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของชุดการสอน
ประวัติความเป็นมาของชุดการสอนในต่างประเทศนั้น การสร้างชุดการสอนเกิดขึ้นที่โรงเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1930 โดย David Stansfield แห่งสถาบัน Ontario for studies in education ได้คิดกล่องเอนกประสงค์ขึ้นใช้สำหรับนักเรียน โดยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การสอน โดยได้ใช้ประสบการณ์จาการเรียนรู้ในเรื่องการสอนสำเร็จรูป (Programmed Learning) โดยผลิตกล่องที่เขาเรียกว่า Thirties Box กล่องการสอนนี้เขาเรียกรวมๆ ว่า The 1930 Multi Media Kit ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบแก่เด็กมาก จึงเรียกว่ากล่องวิเศษและพัฒนามาเป็นชุดการสอนในที่สุด
ประวัติความเป็นมาของการสร้างชุดการสอนในประเทศไทย ระบบการผลิตชุดการสอนในประเทศไทยนั้นเริ่มต้นในปีการศึกษา 2516 ที่แผนกโสตทัศนศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทาลัย ผู้ที่ริเริ่มคือ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ โดยได้ทำการวิจัยกับนิสิตปริญญาโท เปรียบเทียบการสอนแบบบรรยายกับการสอนโดยใช้ชุดการสอนยึดหลักที่ว่า การเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาผู้สอนควรให้ผู้เรียนเรียนเพียง 1 ส่วน อีก 2 ส่วน ให้ไปเสาะแสวงหาจากประสบการณ์ที่ผู้สอนเตรียมไว้ให้ซึ่งผลการวิจัยพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่แตกต่างกันและเมื่อทดสอบหลังจากเรียนแล้ว 4 สัปดาห์ พบว่า ความคงทนในการเรียนรู้ของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม หลังจากนั้น ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ได้เปิดการอบรมการสร้างชุดการสอนขึ้นตามสถาบันต่างๆ หลายแห่งดังนี้
ก. ระดับมหาวิทยาลัย
1. คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ( วันที่ 6-10 กรกฎาคม 2517 )
2. คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( วันที่ 1-7 ตุลาคม 2517)
3. คณะพานิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( วันที่ 11-15 ตุลาคม 2517)
4. คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2 ครั้ง ( กุมภาพันธ์ 2518 )
5. เป็นส่วนหนึ่งในโครงการอบรมคณาจารย์ของฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 1-2 ที่คณะ เศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( เดือน สิงหาคม 2518 ) และครั้งที่ 3 ที่คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( 22 มีนาคม – 2 เมษายน 2520 )
6. คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ( 9-13 เมษายน 2520 )
7. “ชุดการสอนสำหรับมหาวิทยาลัย” หน่วยพัฒนาคณาจารย์ ณ ไร่ฝึกเกษตรชลบุรี 30 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2520
หลังจากปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา ได้จัดฝึกปฏิบัติตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ประมาณ 20 ครั้ง
ข. ระดับประถมศึกษา/มัธยมศึกษา
ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ได้มีการนำระบบการผลิตชุดการสอนแผนจุฬาไปใช้ในการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการแก่อาจารย์วิทยาลัยครู และครูประจำการตามส่วนต่างๆของประเทศ เพื่อใช้ระบบการสอนแบบศูนย์การเรียนและผลิตชุดการสอนให้แพร่หลาย
1.4 แนวคิดพื้นฐานและหลักการในการผลิตชุดการสอน
แนวคิดที่นำไปสู่การผลิตชุดการสอนศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ได้กล่าวถึงแนวคิดที่จะเป็นแนวทางในการผลิตชุดการสอนไว้ดังนี้
แนวคิดแรก การประยุกต์ทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล นักการศึกษาได้นำหลักจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความต้องการ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ มนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกันในด้านความสามารถ สติปัญญา ความต้องการ ความสนใจ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และความแตกต่างปลีกย่อยอื่นๆ ดังนั้น ในการนำเอาหลักความแตกต่างเหล่านี้มาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ ต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล วิธีการเหมาะสมที่สุดคือ การจัดการสอนรายบุคคลหรือการศึกษาตามเอกัตภาพและการศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งล้วนแต่เป็นวิธีการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้มีอิสระในการเรียนตามสติปัญญาความสามารถและความสนใจ โดยมีครูคอยแนะนำช่วยเหลือตามความเหมาะสม ปัจจุบันได้มีการทดลองและวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับการสอนรายบุคคลอย่างกว้างขวางในทุกระดับการศึกษา จนเป็นที่ยอมรับว่าการสอนวิธีนี้กำลังจะก้าวหน้าไกลออกไป โดยมีเทคโนโลยีทางการศึกษาใหม่ๆ เป็นเครื่องมือช่วยให้การสอนรายบุคคลดำเนินไปตามจุดมุ่งหมายปลายทาง
แนวคิดที่สอง ความพยายามที่จะเปลี่ยนการเรียนการสอนไปจากเดิมที่เคยยึด “ครู” เป็นแหล่งความรู้หลัก มาเป็นการจัดประสบการณ์ผู้เรียนด้วยการใช้แหล่งความรู้จากสื่อการสอนแบบต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยวัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการ การนำสื่อการสอนมาใช้จะต้องจัดให้ตรงเนื้อหาและประสบการณ์ตามหน่วยการสอนของวิชาต่างๆ โดยนิยมจัดในรูปของชุดการสอน การเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ครูจะถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนเพียงหนึ่งในสามของเนื้อหาทั้งหมด ส่วนอีกสองในสามผู้เรียนจะศึกษาด้วยตนเองจากที่ผู้สอนเตรียมไว้ให้ในรูปของชุดการสอนและที่ผู้สอนชี้แหล่งและชี้ทางให้
แนวคิดที่สาม การใช้โสตทัศนูปกรณ์ได้เปลี่ยนและขยายตัวออกไปเป็นสื่อการสอนซึ่งคลุมถึงการใช้สิ่งสิ้นเปลือง ( วัสดุ ) เครื่องมือต่างๆ ( อุปกรณ์ ) และกระบวนการ
แนวคิดในเรื่องการใช้สื่อการสอนต่างๆ ได้เปลี่ยนและขยายตัวออกไป แต่เดิมนั้นการผลิตและการใช้สื่อการสอนมักออกมาในรูปต่างคนต่างผลิต ต่างคนต่างใช้เป็นสื่อเดี่ยวๆมิได้มีการจัด ระบบการใช้สื่อหลายอย่างมาผสมผสานกันให้เหมาะสม และใช้เป็นแหล่งความรู้สำหรับผู้เรียนแทนการใช้ครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียนตลอดเวลา แนวโน้มใหม่จึงเป็นการผลิตสื่อการสอนแบบประสมให้เป็นชุดการสอน อันจะมีผลต่อการใช้สื่อ “ เพื่อช่วยครูสอน “ คือครู เป็นผู้หยิบอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้เป็นการใช้สื่อการสอน “ เพื่อช่วยผู้เรียนเรียน “ คือให้ผู้เรียนหยิบและใช้สื่อการสอนต่างๆ ด้วยตัวของผู้เรียนเอง โดยอยู่ในรูปของชุดการสอน
แนวคิดที่สี่ แนวคิดเกี่ยวกับการปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนผู้เรียนในห้องเรียนมีลักษณะเป็นทางเดียวคือ ครูเป็นผู้นำและผู้เรียนเป็นผู้ตาม ครูมิได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ผู้เรียนจะมีโอกาสพูดก็ต่อเมื่อครูให้พูด การตัดสินใจของผู้เรียนส่วนใหญ่มักจะตามครูผู้เรียนเป็นฝ่ายเอาใจครูมากกว่าครูเอาใจผู้เรียน ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนในห้องเรียนนั้น แทบจะไม่มีเลยเพราะครูส่วนใหญ่ไม่ชอบผู้เรียนคุยกันผู้เรียนจึงไม่มีโอกาสฝึกฝนทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะและเชื่อฟังและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น เมื่อเติบใหญ่จึงทำงานร่วมกันไม่ได้ นอกจากนี้ปฎิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับสภาพแวดล้อมก็มักอยู่กับเพียงชอกล์ค กระดานชอล์ค และแบบเรียนในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ หรือบริเวณอันไม่ค่อยสวยงามนัก ครูไม่เคยพานักเรียนออกไปสูสภาพภายนอกห้องเรียน การเรียนการสอนจึงจัดอยู่เพียงในห้องเรียนเป็นส่วนใหญ่แนวโน้มในปัจจุบันและอนาคตของกระบวนการเรียนรู้ จึงต้องนำกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์มาใช้ในการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ประกอบกิจกรรมร่วมกันทฤษฎีและกระบวนการร่วมกล่มจึงเป็นแนวคิดทางพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งนำมาสู่การจัดระบบการผลิตสื่อการสอนออกมาในรูปของชุดการสอน
แนวคิดที่ห้า แนวคิดในการนำหลักจิตวิทยาการเรียนรู้มาจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้โดยจัดสภาพการออกมา เป็นการสอนแบบโปรแกรม ซึ่งหมายถึง ระบบการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียน ( 1 ) ได้เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยตนเอง ( 2 ) มีทางทราบว่าการตัดสินใจหรือการทำงานของตนถูกหรือผิดอย่างไร ( 3 ) มีการเสริมแรงบวกที่นำมาให้ผู้เรียนภาคภูมิใจที่ได้ทำถูกหรือคิดถูกอันจะทำให้กระทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีกในอนาคต และ ( 4 ) ได้ค่อยเรียนรู้ไปที่ละขั้นตามความสามารถและความสนใจ อันได้แก่การสาธิตทดลองและกิจกรรมต่างๆ เดิมนั้น การผลิตและการใช้สื่อการสอนมักออกมาในรูปต่างคนต่างผลิต ต่างคนต่างใช้ เป็นสื่อเดี่ยว มิได้มีการจัดระบบการใช้สื่อหลายอย่างบูรณาการให้เหมาะสม และใช้เป็นแหล่งความรู้สำหรับนักเรียนแทนการใช้ครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนอยู่ตลอดเวลา แนวโน้มใหม่จึงเป็นการผลิตสื่อการสอนแบบประสมให้เป็นชุดการสอน อันจะมีผลต่อการใช้ของครู คือเปลี่ยนจากการใช้สื่อ “เพื่อช่วยครูสอน” คือครูเป็นผู้หยิบใช้อุปกรณ์ต่างๆ มาเป็นการใช้สื่อการสอน “เพื่อช่วยนักเรียนเรียน” คือ ให้นักเรียนได้หยิบฉวยและใช้สื่อการสอนต่างๆ ด้วยตัวของนักเรียนเอง โดยอยู่ในรูปของชุดการสอน
จากแนวคิดทั้งหมดนั้น พอจะวิเคราะห์ให้เห็นเป็นแนวทางในการผลิตชุดการสอนได้ดังนี้
แนวคิดที่หนึ่ง แนวคิดดังกล่าวแล้ว จะเป็นแนวทางให้เกิดความคิดที่จะผลิตหรือวางแผนการสอน และผลิตสื่อประสมที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล ที่ผู้เรียนสามารถก้าวหน้าไปตามความพร้อมความถนัด และความสามารถแต่ละคนได้อย่างเต็มที่ ในลักษณะเป็นชุดการสอนรายบุคคลหรือให้ผู้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมกลุ่มในลักษณะต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ให้มากที่สุด
แนวคิดที่สอง แนวคิดนี้ก็จะเป็นการเปลี่ยนศูนย์กลางการเรียนรู้จากครูมาเป็นผู้เรียนโดยตรง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อย่างเต็มที่และมั่นคงถาวร โดยการให้ผู้เรียนได้ศึกษาเรียนรู้จากสื่อ หรือแหล่งความรู้ที่ครูถ่ายทอดหรือจัดเตรียมเอาไว้ให้ด้วยตนเองในรูปของสื่อประสมหลายๆ รูปแบบ
แนวคิดที่สาม เป็นแนวคิดที่จะเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและนำสื่อมาใข้ในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในรูปแบบใหม่จากสื่อเดี่ยวๆ เป็นสื่อประสมที่จะช่วยให้ผู้เรียนเอง
แนวคิดที่สี่ เป็นการพยายามที่จะปรับพฤติกรรมการเรียนการสอน ระหว่างครูและนักเรียน ให้มีลักษณะมีปฎิสัมพันธ์ที่ดีจะส่งเสริมให้บรรยากาศการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพส่งเสริมให้นักเรียนมีความกล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และที่สำคัญให้นักเรียนได้ทำงานร่วมกัน อันจะเป็นผลต่อความเจริญงอกงามทางด้านอารมณ์และสังคมของนักเรียนได้เป็นอย่างดี
แนวคิดสุดท้าย แนวคิดดังกล่าว เป็นการนำหลักจิตวิทยามาใช้ในการวางแผนการสอนในหน่วยเนื้อหาวิชา เพื่อให้ผู้เรียนมีความสนใจ ได้แรงเสริมที่จะเรียนรู้ให้เกิดความก้าวหน้าต่อไปโดยยึดหลักการเรียนรู้ด้วยตนเอง และให้เห็นถึงความมีหน้าที่เกิดขึ้น ซึ่งค่อยๆเป็นไปที่ละน้อยตามลำดับขั้นในลักษณะเป็นการเรียนแบบโปรแกรมที่จัดไว้หรือเป็นชุดการสอนเป็นต้น




สรุป
จากแนวคิดของนักการศึกษา พอจะสรุปแนวคิดหลักที่นำมาใช้ในการผลิตชุดการสอนได้ดังนี้
1. การประยุกต์ทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล
2. การเรียนที่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียน
3. การตระหนักกิจกรรมกลุ่มและปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียน หรือปฎิสัมพันธ์ภายในกลุ่ม
4. การเรียนการสอนที่เป็นการใช้สื่อการเรียนการสอนเพื่อการถ่ายโยงความรู้จากนามธรรมไปสู่ความเป็นรูปธรรม
5. การจัดสภาพแวดล้อม บรรยากาศการเรียนการสอน การเสริมแรง การเรียนตามลำดับขั้น หรือยึดหลักจิตวิทยาการเรียนรู้

การสร้างชุดการสอน ได้ยึดหลักการทฤษฎีทางการศึกษาหลายอย่างมาช่วยเป็นองค์ประกอบในการสร้าง เช่น การยึดหลักทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล หลักการยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ หลักการใช้สื่อแบบประสม หลักการสอนโดยใช้กระบวนการ กลุ่มสัมพันธ์ (Group process) และยึดหลักจิตวิทยาการเรียนรู้มาใช้ในการเรียนการสอนดังนั้นการสร้างชุดการสอนที่คำนึงถึงหลักการทฤษฎีดังกล่าว จะช่วยทำให้ชุดการสอนที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพต่อการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น

1.5 คุณค่าและประโยชน์ของชุดการสอน
ชุดการสอนแบ่งตามลักษณะการผลิตการใช้แล้วได้ 3 ประเภทด้วยกัน แต่ละประเภทจะมีลักษณะและกระบวนการที่แตกต่างกันออกไปอย่างไรก็ตาม ชุดการสอนไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตามก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนได้ในด้านต่างๆ ดังนี้
1) ช่วยเร้าและกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน เนื่องจากชุดการสอนเป็นชุดสื่อประสมที่มีกิจกรรม และสื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนอย่างเต็มที่ จึงทำให้ผู้เรียนสนใจในเนื้อหาบทเรียนมากขึ้น
2) สนับสนุนและสนองตอบความแตกต่างระหว่างบุคคล ชุดการสอนส่วนใหญ่มักจะจัดกิจกรรมการเรียนและสื่อประกอบ ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเป็นผู้กระทำกิจกรรมการเรียนด้วยตนเองและเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ความสามารถ หรือความต้องการของตนเองได้
3) ให้ประสบการณ์แก่ผู้เรียนในแนวทางเดียวกัน เพราะชุดการสอนเป็นสื่อประสมที่ผลิตขึ้นมาอย่างมีระบบ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์เฉพาะของหน่วยเนื้อหานั้นๆ ผู้สอนที่แตกต่างกันก็สามารถให้ประสบการณ์ได้เหมือนกัน
4) ช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอิสระจากอารมณ์และบุคลิกภาพของผู้สอนสภาพการเรียนรู้จากชุดการสอนผู้เรียนจะทำกิจกรรมจากสื่อต่างๆ ด้วยตนเอง ครูผู้สอนจะทำหน้าที่เพียงเป็นผู้ช่วยดูแลควบคุมให้ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ได้เต็มที่เท่านั้น บุคลิกภาพของครูหรืออารมณ์ของครู จึงไม่มีผลต่อการเรียนของผู้เรียนแต่อย่างใด
5) ช่วยลดภาระและสร้างความมั่นใจให้แก่ครูผู้สอน เพราะชุดการสอนแต่ละชุดผลิตขึ้นมาเป็นหมวดหมู่ มีอุปกรณ์ กิจกรรม ตลอดจนมีข้อแนะนำชี้แจงเกี่ยวกับใช้ไว้อย่างละเอียดชัดเจนสามารถนำไปใช้ได้ทันที่
6) ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนครูหรือผู้มีประสบการณ์เฉพาะทางได้ เพราะชุดการสอน โดยเฉพาะชุดการสอนแบบกิจกรรมกลุ่ม และชุดการสอนรายบุคคลผู้เรียนสามารถเรียนด้วยตนเองและกลุ่มได้ โดยที่ไม่ต้องให้ครูหรือผู้เชี่ยวชาญสอนโดยตรงก็ได้
7) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนตนเองในด้านความกล้าแสดงออกความ คิดเห็นการตัดสินใจ การแสวงหาความรู้ด้วยตนเองและความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
1.6 ลักษณะของชุดการสอนที่ดี
ชุดการสอนที่ดี ควรจะมีลักษณะดังนี้คือ
1) เป็นชุดสื่อประสมที่ผลิตได้เหมาะสมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเนื้อหาบทเรียน
2) เหมาะสมกับประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
3) ประกอบไปด้วยสื่อหลากหลายเร้าความสนใจของผู้เรียนได้ดี
4) มีคำชี้แจงและคำแนะนำวิธีการใช้อย่างละเอียด ชัดเจน ง่ายต่อการนำไปใช้
5) มีวัสดุอุปกรณ์ ตามที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วนในบทเรียน
6) ได้ดำเนินการผลิตอย่างเป็นระบบ ได้ปรับปรุงและทดสอบให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย
7) มีความคงทนถาวรต่อการใช้และสะดวกในการเก็บรักษา
ในการผลิตชุดการสอนนั้น หากจะพิจารณาแล้วจะมีขั้นตอนที่สำคัญที่จะต้องดำเนินการ 4 ขั้นตอนใหญ่ๆดังนี้
1. ขั้นการวิเคราะห์เนื้อหา
2. ขั้นการวางแผนการสอน
3. ขั้นการผลิตสื่อการสอน
4. ขั้นการทดสอบประสิทธิภาพของชุดการสอน
1.7 ผลการวิจัยที่สำคัญเกี่ยวกับชุดการสอน
ได้มีการวิจัย เพื่อศึกษาผลของการผลิตและการใช้ชุดการสอนไว้เป็นจำนวนมากที่สามารถสรุปผลของการวิจัยได้ดังนี้
1. การวิจัยเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์และความคงทนในการเรียนรู้
ศิริพงศ์ พยอมแย้ม ( 2518 ) ได้ทำการวิจัยศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคงทนในการจำโดยการใช้ชุดการเรียนด้วยตนเองในวิชาสังคมศึกษา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า
1) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างการใช้ชุดการเรียนด้วยตนเองกันการสอนปกติ
2) เพื่อเปรียบเทียบความคงทนในการจำระหว่างการใช้ชุดการเรียนด้วยตนเองกับการสอนปกติ
3) เพื่อหาแนวทางการใช้ชุดการเรียนด้วยตนเองให้มีประสิทธิภาพทางการเรียนยิ่งขึ้น

ผลการศึกษาค้นคว้าพบว่า
1) การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างการใช้ชุดการเรียนด้วยตนเอง กับการเรียนการสอนปกติปรากฏผลว่า
1.1) นักเรียนที่เรียนจากชุดการเรียนด้วยตนเองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่แตกต่าง จากนักเรียนที่เรียนจากการสอนปกติ
1.2) นักเรียนที่เรียนจากชุดการเรียนด้วยตนเองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในแต่ละเรื่องไม่แตกต่าง จากนักเรียนที่เรียนจากการสอนปกติ
2) การเปรียบเทียบความคงทนในการจำครั้งที่ 1 กระทำภายหลังการทดลองสัปดาห์ ผลปรากฏว่า
2.1) นักเรียนที่เรียนจากชุดการเรียนด้วยตนเอง มีความคงทนในการจำสูงกว่านักเรียนที่เรียนจากการแบบสอนปกติ
2.2) การเรียนเรื่องการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 และเรื่องรัชสมัยพระนารายณ์มหาราช นักเรียนที่เรียนจากชุดการเรียนด้วยตนเองมีความคงทนในการจำสูงกว่านักเรียนที่เรียนจากการแบบสอนปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น .01 แต่สำหรับเรื่องการกู้เอกราชของพระนเรศวร ปรากฏว่า ความคงทนในการจำทั้งสองกลุ่มนี้ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
3) การเปรียบเทียบความคงทนในการจำครั้งที่ 2 กระทำภายหลังการทดลอง 4 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า
3.1)นักเรียนที่เรียนจากชุดการเรียนด้วยตนเองทั้ง 3 เรื่องมีความคงทนในการจำสูงกว่า นักเรียนที่เรียนจากการสอนปกติ
3.2) สำหรับการเรียนเรื่องการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 และเรื่องสมัยพระนารายณ์มหาราช นักเรียนที่เรียนจากชุดการเรียนด้วยตนเองมีความคงทนในการจำสูงกว่า นักเรียนที่เรียนจาการแบบสอนปกติ แต่สำหรับเรื่องการกู้เอกราชของพระนเรศวรนั้น ปรากฏว่า ความคงทนของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองไม่แตกต่าง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
บุญเลิศ เสียงสุขสันต์ (2531) ได้ทำการวิจัยศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่สอนโดยใช้ชุดการสอนฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์กับการสอนแบบปกติ โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยดังนี้
1.) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
2.) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ระหว่างกลุ่มที่ใช้ชุดการสอนกับการสอนปกติพบว่า
2.1) ผลสัมฤทธิ์ทางทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ในแต่ละด้านของนักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้ชุดการสอนฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และโดยการสอนปกติแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ .01 โดยนักเรียนที่สอนโดยใช้ชุดการสอนฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีผลสัมฤทธิ์ทางทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ในแต่ละด้านมากกว่านักเรียนที่สอนโดยการสอนแบบปกติ
2.2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่ได้รับการสอน โดยใช้ชุดการสอนฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และโดยการสอนปกติแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ .01 โดยนักเรียนที่สอนโดยใช้ชุดการสอนฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีผลสัมฤทธิ์ทางทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากกว่าเรียนที่สอนโดยการสอนแบบปกติ



การวิจัยที่เกี่ยวกับการสร้างชุดการสอนและศึกษาผลของการใช้ชุดการสอน
นิศารัตน์ ศิลปเดช (2521) ได้ทำการศึกษาวิจัยและสร้างชุดการสอนวิชาประชากรศึกษาสำหรับวิทยาลัยครู โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อสร้างชุดการสอนสำหรับครู วิชา ประชากรศึกษา เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประชาการศาสตร์
2. เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดการสอนที่สร้างขึ้นตามเกณฑ์มาตรฐาน 90/90
ผลการสร้างปรากฏว่าประสิทธิภาพของชุดการสอนทั้ง 4 ชุด เพื่อนำไปใช้สอนกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับเท่าเกณฑ์ 2 ชุด ต่ำกว่าเกณฑ์แต่ยอมรับได้ทั้ง 4 ชุด และการวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน ปรากฏว่ามีความแตกต่าง กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
การสร้างชุดการสอน
ชลิต พุทธรักษา (2520) ได้สร้างชุดการสอนวิชา ภูมิศาสตร์ สำหรับห้องเรียนแบบศูนย์การเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีวัตถุประสงค์ คือ
1. เพื่อสร้างชุดการสอนวิชา ภูมิศาสตร์สำหรับห้องเรียนแบบศูนย์การเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
2. เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดการสอนที่สร้างขึ้นตามเกณฑ์ 90/90
ผลของการสร้างและการศึกษาวิจัย ปรากฏว่า ชุดการสอนที่สร้างขึ้นทั้ง 4 ชุด มีประสิทธิภาพ 96.15/93.15,96.50/92.75 และ 97.40/94.75 ตามลำดับแสดงว่ามีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ประสิทธิภาพที่ตั้งไว้ ผลการสอบก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 แสดงว่าชุดการสอนที่สร้างขึ้นทั้ง 4 ชุดนี้ทำให้ผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น

การศึกษาเปรียบเทียบ
พงษ์ศักดิ์ ทองพันชั่ง (2533) ได้ศึกษาเปรียบเทียบผลการเรียนโน๊ตสากลเบื้องต้นของนักเรียน ชั้นประถมปีที่ 3 ที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนตามปกติ โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพิ่ม
1. เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง โน๊ตสากลเบื้องต้นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนกับการสอนปกติ
2. เปรียบเทียบเจตคติต่อการเรียนวิชาดนตรี เรื่องโน๊ตสากลเบื้องต้นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนกับการสอนปกติ
ผลการศึกษาพบว่า ผลสัมฤทธิทางการเรียนของกลุ่มทดลองแตกต่างจากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสิถิติที่ระดับ .05 โดยคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มสูงกว่ากลุ่มควบคุม คะแนนเฉลี่ยเจตคติการเรียนวิชาดนตรี เรื่องโน๊ตสากลเบื้องต้นของนักเรียนกลุ่มทดลองแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยกลุ่มทดลองคะแนนเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มควบคุม
จารุวรรณ บุญสิทธิ์ (2532) ได้ศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเจตคติต่อการเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรีนชั้นประถมศึกษปีที่ 5 โดยใช้ชุดการสอนกับการสอนปกติ โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย
1) เพื่อสร้างชุดการสอนวิชาภาษาไทยบทที่ 2 เรื่อง “จำกับจด” และบทที่ 3 เรื่อง”เกาะหนูเกาะแมว” ตามหลักสูตรชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
- เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียน
- เพื่อเปรียบเทียบเจตคติต่อการเรียนวิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 เรียนโดยใช้ชุดการสอนกับการสอนปกติ
ผลการวิจัยปรากฏว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนกลุ่มทดลองที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนสูงกว่านักเรียนโดยการสอนตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เจตคติต่อการเรียนภาษไทยของนักเรียนทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกัน
ชุดการสอนที่สร้างขึ้นทั้ง 2 ชุด มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ คือ เรื่อง จำกับจด 85.86/82.56 และ เกาะหนู เกาะแมว 86.88/81.22
พิสมัย มณีนิล (2527) ได้ทำการศึกษาวิจัยทดลองใช้ชุดการสอนวิชา ภาษาไทยของนักเรียนหนูหนวก ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย คือ
1. เพื่อสร้างชุดการสอนวิชาภาษาไทยของนักเรียนหูหนวกชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
2. เพื่อหาประสิทธิภาพชุดการสอนวิชาภาษาไทย
3. เพื่อศึกษาความคิดเห็นของครูสอนวิชาภาษาไทยและนักเรียนหูหนวก ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อชุดวิชาภาษาไทย
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. ชุดการสอนวิชาภาษาไทย เรื่องปลาวาฬ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 92.521/91.904 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
2. นักเรียนหูหนวก ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยชุดการสอนสูงกว่าก่อนเรียนด้วยขุดการสอนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05
3. ความคิดเห็นของครูสอนวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 6 คน ที่มีต่อชุดการสอนเกี่ยวกับเนื้อหามีคะแนนเฉลี่ยความคิดเห็นอยู่ในระดับ 3.66-4.50 เกี่ยวกับกิจกรรมที่จัดไว้ในชุดการสอนมีคะแนนเฉลี่ยความคิดเห็นอยู่ในระดับ 3.50 – 4.00 เกี่ยวกับประโยชน์ของชุดการสอน มีคะแนนความคิดเห็นอยู่ในระดับ 3.83 – 4.33 เทียบกับคะแนนที่กำหนดไว้อยู่ในช่วงที่ครูภาษาไทย มีความคิดเห็นว่าประโยชน์ของชุดการสอนมีความเหมาะสมมากที่สุดและกิจกรรมในชุดการสอนมีความเหมาะสมมาก
4. ความคิดเห็นของนักเรียนหูหนวก ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 25 คน ที่มีต่อชุดการสอนเกี่ยวกับเนื้อหามีความคะแนนเฉลี่ยความคิดเห็นอยู่ในระดับ 4.13 – 4.52 เกี่ยวกับกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ยความคิดเห็นอยู่ในระดับ 3.68 – 4.12 เกี่ยวกับประโยชน์ของชุดการสอนมีคะแนนเฉลี่ยความคิดเห็นอยู่ในระดับ 4.04 – 4.20 เทียบคะแนนที่กำหนดไว้อยู่ในช่วงนักเรียนหูหนวกมีความคิดเห็นว่า เนื้อหากิจกรรมและประโยชน์ของชุดการสอนนี้เหมาะสมมากที่สุดในการเรียนรู้เรื่องปลามหากาฬ
งานวิจัยของต่างประเทศเกี่ยวกับชุดการสอน
เดล (Dale. 1974 : 6481 – A) ได้ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างการสอนปกติกับการเรียนโดยใช้ชุดการสอนของนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ปรากฏว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่เรียนด้วยชุดการสอนดีกว่านักศึกษาที่เรียนด้วยการสอนแบบปกติ
เมลวิน (Melvin. 1975 : 4058 – A) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการออกแบบและหาความเที่ยงตรงของชุดการสอน สำหรับฝึกทักษะด้านความแตกต่างของเสียงดนตรีด้วยตนเอง โดยศึกษารูปแบบของโปรแกรมเพื่อประโยชน์สำหรับการเรียนดนตรี ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยสามารถทำให้นักเรียนเกิดทักษะในการแยกเสียงต่าง ๆ ของดนตรีได้ ผลการวิจัยพบว่าครูสามารถสร้างและนำไปใช้ในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักเรียนสามารถทำคะแนนจากแบบทสอบหลังเรียนอยู่ในเกณฑ์สูง   
ออลสัน (Olson. 1975 : 4922 – A) วิจัยเรื่อง ผลของการใช้ชุดการสอนในการศึกษาแผ่นใหม่ที่ใช้เป็นโครงการเริ่มทดลอง สำหรับโรงเรียนในเขตคานาวา เพื่อหารายละเอียดเกี่ยวกับโปรแกรมการศึกษาแผนใหม่ของโรงเรียนประถมศึกษาที่อยู่ใน และนอกโครงการเขตคานาวา มลรัฐเวอร์จิเนียตะวันตก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยให้ครูโรงเรียนในโครงการใช้ชุดการสอนที่ท้องถิ่นผลิตขึ้นเอง แต่ครูโครงเรียนนอกเขตโครงการไม่ให้ใช้ชุดการสอนเหล่านั้น ผลการศึกษาพบว่า การศึกษาโดยใช้ชุดการสอนของการศึกษาแผนใหม่สำหรับครูที่อยู่ในโครงการได้ผลดีกว่าการสอนโดยไม่ใช้ชุดการสอน
สบาเรตตา (Sbaratta. 1975 : 1280 – A) วิจัยเรื่อง การสร้างชุดการสอนเพื่อสอนเรียงความนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยบอสตันที่เรียนวิชาการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาเรียงความ และทัศนคติของนักเรียนโดยใช้ชุดการสอนกับนักเรียนที่เรียนโดยวิธีสอนปกติ ชุดการสอนแบ่งหน่วยการเรียนออกเป็น 5 หน่วย ได้แก่ การอ่าน การเล่นเกมภาษาประสบการณ์ส่วนตัว เทคนิคในการเขียนงานศึกษาค้นคว้าวิจัย การเขียนเชิงโต้แย้งและการเขียนวิจารณ์ ผลการวิจัยปรากฏว่า นักศึกษาที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนมีความสามารถทั่วไปในการเขียนเรียงความ การเขียนโครงสร้างของประโยคและส่วนประกอบประโยคสูงกว่านักศึกษาที่สอนโดยวิธีปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และนักศึกษาที่สอนโดยใช้ชุดการสอนมีทัศนคติที่ดีกว่านักศึกษาที่สอนโดยวิธีปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
สโตน (Stone : 1975 : 690 – A) ศึกษาผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ตามเอกภาพ โดยใช้ชุดการสอนกับนักเรียนระดับ 7 และ 8 จำนวน 34 คน พบว่า นักเรียนระดับ 7 ที่เรียนด้วยชุดการสอนมีความรู้ทางคณิตศาสตร์ดีกว่านักเรียนระดับเดียวกันที่เรียนแบบเดิม ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับ 7 และ 8 ซึ่งเรียนจากชุดการสอนไม่แตกต่างจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในห้องเรียนแบบธรรมดา
ชอร์เตอร์ (Shorter. 1982 : 4692 –A ) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการสร้างชุดการสอนให้ผู้เรียนศึกษาด้วยตนเอง เพื่อหาประสบการณ์ด้านวิชาชีพเกษตรกรรม เรื่อง การใช้จ่ายของนักเรียน และเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้ชุดการสอนที่เรียนด้วยตนเองกับการสอนปกติผลการวิจัยพบว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มทดลองที่เรียนด้วยชุดการสอน กับการสอนปกติ
เตอร์ค (Turk. 1985 : 2436) ทำการวิจัยเกี่ยวกับการวางแผนพัฒนาการทดสอบการฟังทำนองจังหวัดดนตรีในแต่ละบุคคล โดยใช้ชุดการสอนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 30 คน เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีอายุระหว่าง 11 -14 ปี ผลการทดลองหลังจากที่ได้ศึกษาจากชุดการสอนแล้ว พบว่าการใช้ชุดการสอนเพื่อพัฒนาการฟังทำนองจังหวะดนตรีนั้น การอธิบายเนื้อหาที่อยู่ในชุดการสอนชัดเจนดี ซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อบุคคลแต่ละคน ที่สามารถรับรู้และเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว หลังจากที่ใช้ชุดการสอนนี้แล้ว
วีวาส (Vival. 1985 : 605) วิจัยเกี่ยวกับการออกแบบพัฒนาและประเมินค่าของการรับรู้ทางความคิดของนักเรียนเกรด 1 ในประเทศเวเนซูเอล่า โดยใช้ชุดการสอน จากการศึกษาเกี่ยวกับความเข้าใจในการพัฒนาทักษะทั้ง 5 ด้าน คือ ด้านความคิด ด้านความพร้อมในการเรียน ด้านเชาวน์ปัญญา และด้านการปรับตัวทางสังคม กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนเกรด 1 จากโรงเรียนเรนีส กัวเทียร์ เขตรัฐมิลันดา ประเทศเวเนซูเอล่า จำนวน 241 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 3 ห้องเรียน จำนวน 114 คน รับการสอนโดยชุดการสอน กลุ่มควบคุม 3 ห้องเรียน จำนวน 100 คน รับการสอนตามปกติ ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้ชุดการสอนมีความสามารถเพิ่มขึ้นทางด้านความคิด ด้านความพร้อมในการเรียน ด้านความคิดสร้างสรรค์ ด้านเชาว์ปัญญา และด้านการปรับตัวทางสังคม หลังจากได้รับการสอนด้วยชุดการสอนสูงกว่านักเรียนที่ได้รับการสอนแบบปกติ
            วิลสัน (Wilson. 1989 : 419) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลการใช้ชุดการสอนของครู เพื่อแก้ปัญหาในการเรียนของเด็กนักเรียนช้าด้านคณิตศาสตร์ เกี่ยวกับการบวก การลบ ผลการวิจัยพบว่า ครูผู้สอนยอมรับว่าการใช้ชุดการสอนมีผลดีมากกว่าการสอนตามปกติ เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยครูแก้ปัญหาการสอน ที่อยู่ในหลักสูตรคณิตศาสตร์สำหรับเด็กเรียนช้า

6 ความคิดเห็น:

เจษ กล่าวว่า...

ขออนุญาติรบกวนถาม อาจารย์ ครับ
คำว่าชุดการสอน กับ แบบช่วยสอน และแบบช่วยฝึก
คืออย่างเดียวกันหรือเปล่าครับ บางครั้งจะพบบ่อย โดยเฉพาะ แบบช่วยสอน
เจษ

Zhulian กล่าวว่า...

ตามที่ได้ศึกษาเอกสารตำราต่างๆมาระยะเวลานานพอสมควรยังไม่ปรากฎว่ามีการใช้คำว่าแบบช่วยสอนหรือแบบช่วยฝึกมาใช้แทนคำว่าชุดการสอน คำที่มักจะพบได้แก่แบบฝึก โปรแกรมช่วยสอน จึงไม่สามารถตอบได้อย่างชัดเจนว่าเป็นอย่างเดียวกัน แต่จากเอกสารถที่นำเสนอนี้สามารถตอบได้ว่าไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

Unknown กล่าวว่า...

ดิฉันสนใจอยากอบรมการสร้างชุดการสอนจากท่านอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ ดิฉันสอนคณิตศาสตร์อยู่โคราช (พิมาย)ค่ะ อาจารย์มีข้อแนะนำแนวทางการเข้ารับความรู้ด้านนี้บ้างไหมคะ ต้องการพัฒนางานสอนจริง ๆ และเห็นถึงคุณภาพนวัตกรรมจริง ๆ ค่ะ ขอบพระคุณล่วงหน้านะคะ
รบกวนตอบทางE-mail tippa2k@gmail.com นะคะ

Unknown กล่าวว่า...

ดิฉันสนใจอยากนำชุดการสอนไปใช้จัดการเรียนการสอน ได้ศึกษาเกี่ยวกับชุดการสอนมากมาย เมื่อมาอ่านของอาจารย์แล้วเข้าใจและคิดว่า สามารถจะนำความรู้ไปใ้ช้ในการสอนได้เป็นอย่างดีคะ อยากเห็นครูไทยขยันทำสื่อกันเยอะ ๆ เพื่อพัฒนาเด็ก ๆ ของเรากันนะคะ

Unknown กล่าวว่า...

อยากทราบความหมายของ ชุดการอ่าน ชุดฝึกการอ่าน ชุดฝึกทักษะการอ่าน และชุดฝึกส่งเสริมการอ่าน ถือว่าเป็นคำเดียวกันหรือไม่คะ ถ้าอาจารย์เขียนไว้ในหนังสือ ช่วยบอกชื่อเล่มของหนังสือด้วยค่ะ จะไปหาซื้อมาศึกษาค่ะ ซื้อที่ซีเอ็ด มีหรือไม่คะ เพราะอยู่ใกล้บ้านค่ะ ขอบคุณค่ะ

Unknown กล่าวว่า...

อาจารย์คะ ชุดการสอนกับชุดการเรียน คือชุดเดียวกันไหมคะ
ถ้าทำผลงานวิชาการ จะมีทฤษฎีรองรับไหมคะ