วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ชุดการสอน 3 (ศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์)

เทคนิคและกระบวนการในการผลิตชุดการสอน

3.1 ขั้นตอนในการผลิตชุดการสอน
ขั้นที่ 1 การวิเคราะห์เนื้อหา
การวิเคราะห์เนื้อหา หมายถึง การจำแนกเนื้อหาวิชาออกเป็นหน่วยแยกย่อยลงไปจนถึงหน่วยระดับบทเรียน ซึ่งเป็นหน่วยที่ใช้สอนได้ 1 ครั้ง ชุดการสอนที่ผลิตขึ้นจึงเป็นชุดการสอนประจำหน่วยระดับบทเรียน คือ 1 ชุดการสอน สำหรับการสอนแต่ละครั้ง โดยส่วนที่จะต้องทำในการวิเคราะห์เนื้อหาคือ
1. การกำหนดหน่วย คือ การนำหน่วยเนื้อหาบทเรียนมากำหนดให้เป็นหน่วยระดับบทเรียน ซึ่งแต่ละหน่วย จะใช้สอนได้ประมาณ 60-80 นาที ( 1 คาบ มัธยม.อุดมศึกษา หรือ 3-4 คาบ ระดับประถมศึกษา )
2. การกำหนดหัวเรื่อง เป็นการนำแต่ละหน่วยมากำหนดเป็นหัวเรื่องย่อย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดกิจกรรมต่างๆได้
3. การกำหนดความคิดรวบยอด เป็นการเขียนข้อความที่เป็นสาระสำคัญของแต่ละหัวเรื่อง
ขั้นที่ 2 การวางแผนการสอน
การวางแผนการสอนเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าว่า เมื่อครูเริ่มสอนโดยใช้ชุดการสอนจะต้องทำอะไรบ้างตามลำดับก่อนหลัง
ขั้นตอนที่ 3 การผลิตสื่อการสอน
เป็นการผลิตสื่อการสอนประเภทต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในแผนการสอน
ขั้นตอนที่ 4 การทดสอบประสิทธิภาพชุดการสอน
เป็นการประเมินคุณภาพชุดการสอน ด้วยการนำชุดการสอนไปทดลองใช้แล้วปรับปรุงให้มีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ดร.วิชัย วงษ์ใหญ่ ได้อธิบายขั้นตอนในการสร้างชุดการสอนไว้ดังนี้
1. ต้องศึกษาเนื้อหาสาระของเนื้อหาวิชาอย่างละเอียดว่า สิ่งที่จะนำมาทำเป็นชุดการสอนนั้นจะมุงเน้นให้เกิดการเรียนรู้อะไรกับผู้เรียน และวิเคราะห์แบ่งหน่วยการสอนการเรียนออกเป็นเรื่องย่อยๆ และพิจารณาให้ละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนในหน่วยอื่นๆ ควรจะเรียงลำดับเนื้อหาตามขั้นตอนจากพื้นฐานของผู้เรียน
2. เพื่อศึกษาเนื้อหาสาระแล้ว จากนั้นจึงตัดสินใจว่าจะทำการสอนแบบใดโดยกำหนดว่าผู้เรียนคือใคร (Who is Learning) จะให้อะไรแก่ผู้เรียน ( Give What Comdition) จะทำได้กิจกรรมอย่างไร (Does What activities ) จะทำได้ดีอย่างไร ( How well Criterion ) สิ่งเหล่านี้เป็นเกณฑ์กำหนดการเรียน
3. กำหนดหน่วยการเรียนการสอน ประมาณเนื้อหาสาระว่าเราจะถ่ายทอดเนื้อหาสาระได้ตามกำหนดหน่วยการเรียนที่สนุก น่าเรียน ให้ความชื่นบานแก่ผู้เรียน หาสื่อการเรียนได้ง่าย พยายามศึกษาหลักการความคิดรวบยอดอะไรหัวข้อย่อยอะไรบ้าง แต่ละหัวเรื่องย่อยพยายามดึงเอาแกนหลักการเรียนรู้ออกมาให้ได้
4. กำหนดความคิดรวบยอด ต้องสอดคล้องกับหน่วยและหัวเรื่อง โดยการสรุปหลักการเพื่อเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียน เพราะความรวบยอดเป็นเรื่องของความเข้าใจอันเกิดจากประสบการณ์สัมผัลสิ่งแวดล้อม ซึ่งสมองจะสรุปแก่นแท้ของเรื่องนั้นๆ
5. จุดประสงค์การเรียนต้องสอดคล้องความคิดรวบยอด โดยกำหนดเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ซึ่งหมายถึงความสามารถของผู้เรียน แสดงออกมาหลังจากการเรียนแล้วถ้าผู้สอนกำหนดชัดเจนมากเท่าใด ก็ยังมีทางประสบความสำเร็จในการสอนมากเท่านั้น จึงต้องตรวจสอบจุดประสงค์การเรียนแต่ละข้อให้ถูกต้องและครอบคลุมเนื้อหา
6. การวิเคราะห์งาน คือการนำจุดประสงค์แต่ละข้อมาทำการวิเคราะห์เนื้อหากิจกรรมการเรียนการสอน จากนั้นจึงลำดับกิจกรรมการเรียนให้เหมาะสมถูกต้องกับจุดประสงค์ที่ตั้งไว้
7. เรียงลำดับกิจกรรมการเรียนการสอน ภายหลังจากที่นำจุดประสงค์การเรียนแต่ละข้อมาวิเคราะห์งานแล้ว โดยการจัดเรียงกิจกรรมทั้งหมดให้มารวมเป็นกิจกรรมการเรียนที่สมบูรณ์ที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนในการเรียน โดยคำนึงถึงพื้นฐานของผู้เรียน (Entering Behavior) วิธีดำเนินการให้เกิดขึ้นในการเรียนการสอน ( Instructional Procedures ) ตลอดจนการติดตามผล การประเมินผล การประเมินพฤติกรรมผู้เรียนที่แสดงออก เมื่อมีการเรียนการสอนแล้ว
(Performance Assevment)
8. สื่อการเรียน คือวัสดุอุปกรณ์และกิจกรรมที่ครูและนักเรียนต้องทำ เพื่อเป็นแนวทางในการเรียนรู้ ซึ่งครูต้องจัดทำและหามาไว้ให้เรีบยร้อยถ้าสื่อนั้นมีขนาดใหญ่โตหรือมีคุณค่ามากต้องจัดเตรียมเอาไว้ก่อน แล้วเขียนไว้ในคู่มือให้ชัดเจนว่าอยู่ที่ใด เช่น เครื่องบันทึกเสียง เครื่องฉายสไลด์ สิ่งของที่เก็บได้ไม่ทนทาน เน่าเปื่อยได้ เช่น ใบไม้ พืช สัตว์ เป็นต้น
9. การปะเมินผล คือ การตรวจสอบหลังการเรียนการสอนแล้ว ผู้เรียนได้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามจุดประสงค์ที่เราตั้งใจไว้หรือไม่ การประเมินผลนี้จะใช้วิธีใดก็ได้แต่ต้องตรงกับจุดประสงค์ที่เราตั้งไว้ ถ้าหากว่าการประเมินผลไม่ตรงตามจุดหมายกำหนดไว้ ชุดการสอนที่สร้างขึ้นมาก็จะทำให้เสียเวลาและไม่มีคุณค่าตามที่ต้องการ
10. การทดลองใช้ชุดการสอน เพื่อหาประสิทธิภาพ เพื่อพิจารณารูปแบบของชุดการสอน จะสร้างออกตามลักษณะอย่างไร รูปแบบจะเป็นซอง แฟ้ม กล่องแล้วแต่ความสะดวกในการใช้ การเก็บรักษา ความสวยงาม ส่วนการหาประสิทธิภาพของชุดการสอนก็เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสม โดยการนำไปทดลองกับกลุ่มผู้เรียนขนาดเล็กๆ ดูก่อน เพื่อตรวจสอบข้อบกพร่องและแก้ไขปรับปรุงเสียก่อนจึงนำไปทดลองกับผู้เรียนกลุ่มใหญ่ ต่อไป โดยกำหนดขั้นตอนดังนี้
10.1 ชุดการสอนนี้ต้องการทราบความรู้เดิมของผู้เรียนหรือไม่
10.2 การนำเข้าสู่บทเรียนนี้มีความเหมาะสมหรือไม่
10.3 การประกอบกิจกรรมการเรียนการสอนมีความสับสนวุ่นวายกับผู้เรียนและดำเนินเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้หรือไม่
10.4 การสรุปผลการเรียน เพื่อเป็นแนวทางไปสู่ความคิดรวบยอดหรือหลักการสำคัญของการเรียนรู้ในหน่วยนั้นๆ ดีหรือไม่หรือต้องการปรับเพิ่มเติมอย่างไร
10.5 การประเมินผลหลังเรียน เป็นการตรวจสอบพฤติกรรมการเรียนรู้ว่าเปลี่ยนหรือไม่ให้ความเชื่อมั่นมากน้อยเพียงใด
ดร.ชัยยงค์ พรหมวงค์ และคณะ ( 2521 ) ได้อธิบายขั้นตอนการผลิตชุดการสอนอย่างมีระบบ ในการผลิตขุดการสอนแผนจุฬาหรือเรียกย่อๆ ว่า CHULA PLAN โดยมีรายละเอียดขั้นตอน 10 ขั้นตอนดังนี้
1) การกำหนดหมวดหมู่เนื้อหาและประสบการณ์
เป็นการกำหนดหมวดวิชา กลุ่มประสบการณ์หรืออาจจะเป็นการบูรณาการกับเนื้อหาวิชาอื่น
2) กำหนดหน่วยการสอน
ในขั้นนี้ก็เป็นการแบ่งเนื้อหาวิชาออกเป็นหน่วย สำหรับการสอนในแต่ละครั้งซึ่งอาจเป็นหน่วยการสอนละ 60 นาที 120 นาที หรือ 180 นาที โดยจะขึ้นอยู่กับเนื้อหาวิชาหรือระดับชั้น
3) กำหนดหัวเรื่อง
เมื่อกำหนดหน่วยการสอนแต่ละครั้งได้แล้ว ก็เป็นการแบ่งเนื้อหาของหน่วยการสอนนั้นให้ย่อยลงมาอย่างที่เรียกได้ว่า หัวเรื่อง โดยพิจารณาเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนในเนื้อหานั้นๆ ประกอบกัน
4) กำหนดมโนทัศน์และหลักการ
เป็นการกำหนดสาระสำคัญจากหัวเรื่องในหน่วยนั้นๆ โดยพิจารณาว่าในหัวเรื่องนั้น มีสาระสำคัญหรือหลักเกณฑ์อะไรที่ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้หรือให้เกิดขึ้นหลังจากเรียนจากชุดการสอน
5) กำหนดวัตถุประสงค์
เป็นการเขียนจุดประสงค์ของการสอนในหน่วยนั้น เพื่อจะทราบได้ว่าผู้เรียนควรจะ
ต้องมีพฤติกรรมอย่างไร หลังจากที่เรียนในเรื่องนั้นแล้ว
6) กำหนดกิจกรรมการเรียน
กำหนดกิจกรรมการเรียนในชุดการสอนในแต่ละหน่วย จะต้องให้สอดคล้องกับวัตถุ
ประสงค์เชิงพฤติกรรมที่กำหนดไว้ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการผลิตสื่อการสอนต่อไป

7) กำหนดการประเมินผล
เป็นการกำหนดวิธีการที่จะวัดดูว่าผู้เรียนเรียนแล้วสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของ
หน่วยเนื้อหานั้นๆ หรือไม่ โดยพิจารณาวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่เตรียมไว้
8) การเลือกและผลิตสื่อการสอน
ในการนี้จะต้องพิจารณาว่า ลักษณะเนื้อหาและลักษณะผู้เรียนตามที่กำหนดไว้สื่อ
ชนิดใดหรือกิจกรรมการเรียนแบบใดจึงจะเหมาะสมสอดคล้อง และทำให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนได้มากที่สุด
9) การหาประสิทธิภาพชุดการสอน
เมื่อสร้างชุดการสอนเสร็จเรียนร้อยแล้ว จำเป็นที่จะต้องนำชุดการสอนไปทดลองใช้
เพื่อตรวจดูว่า ชุดการสอนนั้นสามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์เพียงใดและหากพบว่า ยังมีข้อบกพร่องก็จะนำไปปรับปรุงแก้ไขจนทำให้การเรียนรู้จากชุดการสอนนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้
10) การใช้ชุดการสอน
ชุดการสอนที่ผ่านการทดลองหาประสิทธิภาพและปรับปรุงแล้วจึงจะสามารถนำ
ไปใช้ในห้องเรียนปกติได้ โดยจะมีขั้นตอนต่างๆ ในการใช้ดังนี้ คือ
10.1 ผู้เรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน เพื่อพิจารณาความรู้พื้นฐานของผู้เรียนก่อนเรียนเนื้อหานั้นๆ
10.2 ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
10.3 ขั้นประกอบกิจกรรมการเรียนการสอน
10.4 ขั้นสรุปบทเรียน
10.5 ผู้เรียนทำแบบทดสอบหลังเรียน เพื่อพิจารณาว่าผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนมากน้อยเพียงใด
3.2 เทคนิคในการผลิตชุดการสอน
การกำหนดหน่วยการสอนสำหรับชุดการสอน
ในการผลิตชุดการสอน ผู้ผลิตจะเริ่มต้นด้วยการเลือกและการกำหนดหน่วยเนื้อหา หรือประสบการณ์ที่จะผลิตชุดการสอนเสียก่อนและในขณะเดียวกันก็ต้องจัดแบ่งเนื้อหาเป็นหน่วยการสอนสำหรับชุดการสอนนั้น มีความแตกต่างจากการแบ่งหน่วยงานในแผนการสอนซึ่งอยู่ในหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการหรือระดับอุดมศึกษาก็ตาม ซึ่งมักจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นหน่วยการสอนที่มีขนาดใหญ่ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นบทเรียนขนาดใหญ่ดังตัวอย่างเช่น การแบ่งหน่วยกลุ่มวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตในระดับประถมศึกษาปีที่ 5 เนื้อหาตามหลักสูตรจะแบ่งออกเป็นหน่วยใหญ่ ๆ ได้ 12 หน่วย คือ
หน่วยที่ 1 สิ่งมีชีวิต 142 คาบ
หน่วยที่ 2 ชีวิตในบ้าน 46 คาบ
หน่วยที่ 3 สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา 59 คาบ
หน่วยที่ 4 ชาติไทย 119 คาบ
หน่วยที่ 5 การทำมาหากิน 75 คาบ
หน่วยที่ 6 พลังงานและสารเคมี 96 คาบ
หน่วยที่ 7 จักรวาลและอวกาศ 26 คาบ
หน่วยที่ 8 ประเทศเพื่อนบ้าน 60 คาบ
หน่วยที่ 9 การสื่อสารและการคมนาคม 27 คาบ
หน่วยที่ 10 ประชากรศึกษา 20 คาบ
หน่วยที่ 11 การเมืองและการปกครอง 25 คาบ
หน่วยที่ 12 ข่าวเหตูการและวันสำคัญ 150 คาบ

จะเห็นว่า หน่วยตามแผนการสอนในหลักสูตรระดับประถมศึกษาดังกล่าว เป็นหน่วยที่มีขนาดใหญ่มากใช้เวลาสอนหลายครั้งด้วยกัน ส่วนหน่วยการสอนที่จะใช้ผลิตชุดการสอนนั้นจะเป็นหน่วยขนาดเล็ก สำหรับที่จะใช้สอนเพียงครั้งเดียวเท่านั้น อาจจะเป็นการสอนครั้งละ 3 คาบ ในระดับประถมศึกษา ซึ่งใช้เวลา 60 นาทีเท่านั้น ส่วนในระดับมัธยมศึกษาหรือระดับอุดมศึกษาแต่ละหน่วยการสอนจะเป็น 2-3 ชั่วโมงก็ได้
ดร.ชัยยงค์ พรหมวงค์ และคณะ ( 2521:56 ) ได้อธิบายให้คำจำกัดความหน่วยการสอนสำหรับชุดการสอนไว้ว่า หมายถึง ประสบการณ์หรือความรู้เนื้อหาหรือกิจกรรมการเรียนการสอนที่ผู้สอนใช้หรือสอนแก่ผู้เรียนในแต่ละครั้งของการสอน ซึ่งความยาวของการสอนจะขึ้นอยู่กับระดับชั้นและความยุงยากของเนื้อหา เช่น ระดับประถมศึกษาจะมีความยาวประมาณ 60 นาที เพราะความสนใจของเด็กในระดับประถมศึกษา จะมีระยะเวลาจำกัดเพียง 20 นาที โดยประมาณ ในขณะที่ผู้เรียนระดับชั้นสูงขึ้นก็จะมีความตั้งใจในการเรียนยาวนานขึ้น ดังนั้นหน่วยการสอนจึงสามารถกำหนดให้ระยะเวลายาวขึ้นเป็นครั้งละ 2-3 ชั่วโมงก็ได้
จากแผนการสอนวิชา กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตในระดับประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่อง อวัยวะสำคัญของร่างกาย ( เวลา 15 คาบ ) เราอาจจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นหน่วยสำหรับผลิตชุดการสอนได้ดังนี้
แผนการสอนที่ 1 อวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ( เวลา 15 คาบ )
หน่วยการสอนที่ 1 อวัยวะภายนอก ( ตาและหู )
หน่วยการสอนที่ 2 อวัยวะภายนอก ( จมูกปากและผิวหนัง )
หน่วยการสอนที่ 3 อวัยวะภายใน ( ปอด )
หน่วยการสอนที่ 4 อวัยวะภายใน (หัวใจ )
หน่วยการสอนที่ 5 อวัยวะภายใน (กระเพาะอาหาร ลำไส้ ไต )
โดยที่หน่วยการสอนแต่ละหน่วยจะใช้เวลาในการสอน 3 คาบ 60 นาที ซึ่งเมื่อสอนจบทุกหน่วยการสอน ก็จะครบเนื้อหาตามกำหนด
เมื่อพิจารณาจากแผนการสอนทั้งหลักสูตร เราจะพบว่า แผนการสอนจะแบ่งเป็นหน่วยใหญ่ ๆ ทั้งหมด 1 หน่วย คาบเวลาเรียนทั้งสิ้น 843 คาบ ซึ่งหากจะแบ่งออกเป็นหน่วยสำหรับชุดการสอนก็น่าจะแบ่งได้ 281 หน่วย โดยแต่ละหน่วยการสอนก็จะใช้เวลาการสอน 3 คาบ หรือ 60 นาที ซึ่งเป็นไปตามการจัดตารางการเรียนของระดับประถมศึกษาโดยทั่วไป ดังนั้นการสอนตลอดหลักสูตรก็จะใช้สอนในชุดการสอน จำนวน 281 ครั้งนั่นเอง
ในการแบ่งหน่วยการสอนให้เป็นหน่วยเนื้อหาย่อยๆ จะช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เมื่อจะผลิตชุดการสอนจึงจำเป็นต้องจัดแบ่งหน่วยการสอนให้ย่อย ๆ ดังเหตูผลต่อไปนี้
1) จะทำให้การเรียนการสอนเป็นไปตามลำดับขั้น ตามลำดับความยากง่าย ก่อนหลังของเนื้อหา
2) ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาในแต่ละหน่วยการสอน ซึ่งจะทำให้มีกิจกรรมการสอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาในแต่ละหน่วยการสอน ซึ่งจะทำให้มีกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลายผู้เรียนไม่เบื่อหน่าย
3) ผู้เรียนจะทราบเนื้อหาของหน่วยการสอนต่างๆ จะทำให้สามารถเตรียมตัวศึกษามาล่วงหน้าได้
แบบแผนของการแบ่งหน่วย
ในการแบ่งเนื้อหาตามหลักสูตรออกเป็นหน่วยการสอน หรือเป็นการสอนในแต่ละครั้งนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ชัยยงค์ พรหมวงค์ และคณะ ( 2521:58 ) ได้กำหนดวิธีการแบ่งเนื้อหาในรายวิชาออกเป็นหน่วยการสอนว่า มีแบบแผนที่นิยมใช้ด้วยกัน 4 แบบ คือ
1. แบ่งหน่วยการสอนตามที่มีผู้แบ่งไว้แล้ว เช่น ในตำราหรือแบบเรียนจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นบทๆ เรียงลำดับไว้แล้วแต่ในบางครั้งจะพบว่า บางบทจะมีเนื้อหากิจกรรมมาก ในขณะที่บางบทจะมีเน้อหาและกิจกรรมน้อย ดังนั้น อาจแบ่งบทออกเป็นหน่วยการสอนที่มากกว่า 1 ครั้งก็ได้ใสบทนั้นๆ ซึ่งบางบทเนื้อหาอาจแบ่งได้เป็น 2-3 หน่วยการสอนในขณะที่บางบทอาจจะแบ่งออกได้ 5-6 หน่วยการสอนก็ได้
2. แบ่งตามความนิยมหรือรูปแบบที่เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการในแต่ละสาขาวิชา เช่น ในด้านการแพทย์ อาจจะแบ่งตามระบบอวัยวะของร่างกาย เช่น ระบบขับถ่าย ระบบย่อยอาหาร ระบบหายใจ เป็นต้น
3. แบ่งตามที่กำหนดไว้ตามแผนการสอนของหลักสูตร โดยวิธีนี้ก็ให้ดูจากแผนการสอนในหลักสูตร ซึ่งมักจะแบ่งออกเป็นหน่วยใหญ่ๆ ไว้หลายหน่วยกำหนดคาบเวลาการสอนเอาไว้ ผู้สอนนำเนื้อหาในหน่วยใหญ่ ๆ ดังกล่าวมาแบ่งออกเป็นหน่วยการสอนกได้
ตัวอย่างเช่น วิชากลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หน่วย 11 เรื่อง พื้นฐานทางการเมืองและการปกครอง เวลา 23 คาบ ซึ่งเมื่อกำหนดเวลาในการสอนไว้ครั้งละ 3 คาบ ก็อาจจะแบ่งออกเป็นหน่วยการสอนได้ดังนี้
หน่วยที่ 11 พื้นฐานทางการเมืองการปกครอง เวลา 23 คาบ
หน่วยการสอนที่ 1 ลักษณะทั่วไปของประชาธิปไตย ( ความหมายสิทธิ หน้าที่และความเสมอภาค ) 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 2 ลักษณะทั่วไปของประชาธิปไตย ( การยอมรับความคิดเห็นของบุคคลและหมู่คณะและการมีระเบียบวินัยในการอยู่ร่วมกัน)
3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 3 หน้าที่และคุณสมบัติที่ดีของผู้นำผู้ตามในระดับครอบครัวและชุมชนตำบล หมู่บ้าน อำเภอ 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 4 หน้าที่และคุณสมบัติที่ดีของผู้นำผู้ตามในชุมชนระดับจังหวัดและประเทศ 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 5 การปกครองของชุมชนและรัฐในระดับท้องถิ่น ( สภาตำบล สภาเทศบาล และสภาจังหวัด ) 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 6 การปกครองประเทศ ( รัฐธรรณนูญ ) 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 7 การปกครองประเทศ ( อำนาจนิติบัญญัติ) 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 8 การปกครองประเทศ ( อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ )
3 คาบ
4. แบ่งตามที่ผู้สอนเห็นว่าเหมาะสม วิธีนี้ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัวการแบ่งหน่วยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้สอนอาจจะใช้ทั้ง 3 วิธีที่กล่าวมาแล้วนำมาผสมผสานกัน โดยอาจจะเพิ่มเติมเนื้อหาตามความต้องการของท้องถิ่นลงไปด้วยก็ได้

ลำดับการแบ่งหน่วยเนื้อหาออกเป็นหน่วยย่อย
ตามรูปแบบการแบ่งเนื้อหาจากแผนการสอนเพื่อความสะดวก ควรจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นเนื้อหาย่อยตามลำดับดังนี้
1. สำหรับหน่วยที่เนื้อหามากและจำนวนคาบมาก การแบ่งหน่วยเนื้อหาที่มีจำนวนคาบมากมีการแบ่งหน่วยเนื้อหาออกเป็นหน่วยย่อย และหน่วยย่อยลงไปอีก
2. สำหรับหน่วยที่มีเนื้อหาน้อยและจำนวนคาบน้อย ในหน่วยที่มีเนื้อหาน้อยกำหนดคาบเวลาสอนไว้ไม่มาก ดังนั้น การแบ่งเนื้อหาก็มักจะแบ่งจากเนื้อหาจากหน่วย ไปเป็นหน่วยการสอนแต่ละครั้งเลย
ตัวอย่างการแบ่งเนื้อหาออกเป็นหน่วยการสอน
โดยหน่วยการสอนทั้ง 7 หน่วย อาจจะแบ่งได้ดังนี้
หน่วยย่อยที่ 3 สัตว์ 20 คาบ
หน่วยการสอนที่ 1 การดำรงชีวิตของสัตว์ 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 2 ประโยชน์ของสัตว์ด้านต่าง ๆ 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 3 การประดิษฐ์ของประดับตกแต่ง
จากวัสดุที่ได้จากสัตว์ 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 4 ผลเสียของการทำลายสัตว์ 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 5 การคุ้มครองสัตว์ 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 6 พ.ร.บ.การสงวนพันธุ์สัตว์ป่า 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 7 พ.ร.บ.การสงวนพันธุ์สัตว์น้ำ 3 คาบ
การแบ่งหน่วยการสอนโดยยึดหลักถือแผนการสอนจากหลักสูตร
โดยทั่วไปแล้วหลักสูตรในแต่ละระดับชั้น จะมีแผนการสอนเสนอแนวเนื้อหาและแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการประเมิณผลแก่ผู้สอน แต่ปัญหาที่ผู้สอนประสบการใช้แผนการสอนก็คือ หน่วยการสอนที่เสนอให้ในแผนการสอนมีขนาดใหญ่เกินไป ผู้สอนไม่อาจที่จะนำมาใช้ในการสอนแต่ละครั้งได้ จึงเป็นภาระแก่ผู้สอนในการที่จะแบ่งหน่วยการสอนในแผนการสอนออกเป็นหน่วยย่อย ๆ เพื่อใช้ในการสอนแต่ละครั้ง ข้อควรพิจารณาในการแบ่งหน่วยการสอนออกเป็นหน่วย สำหรับชุดการสอนมีดังนี้
1. ศึกษาแผนย่อยหรือหน่วยการสอนที่กำหนดให้
2. ศึกษาจุดประสงค์ที่กำหนดไว้
3. ศึกษาเนื้อหาที่กำหนดไว้ในแผนการสอน
4. ศึกษากิจกรรมการเรียนการสอนที่เสนอไว้ในแผนการสอน
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบทั้ง 4 ข้อแล้ว คราวนี้ให้เอาเนื้อหาในแต่ละหน่วยออกมาแบ่ง
เป็นเนื้อหาย่อยหรือในที่นี้ก็คือ หน่วยการสอนซึ่งเป็นการสอน 1 ครั้ง ของชุดการสอนนั่นเอง
ตังอย่างการแบ่งหน่วยโดยยึดแผนการสอน เช่น วิชากลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หน่วยที่ 1 สิ่งมีชีวิต หน่วยย่อยที่ 1 ตัวเรา แผนการสอน เรื่องอุบัติเหตูและการป้องกัน ซึ่งได้กำหนดการสอนไว้ 15 คาบ
ขั้นตอนการแบ่งหน่วย ในการแบ่งหน่วยการสอน หน่วยการสอน เรื่อง อุบัติเหตุและการป้องกัน มีขั้นตอนในการแบ่ง ดังนี้
1. พิจารณาจำนวนหน่วยโดยตรง
พิจารณาเวลาทั้งหมดในแผนการสอนซึ่งกำหนดไว้ 15 คาบ ในที่นี้โรงเรียนประถมศึกษา
โดยทั่วไปมักจะจัดการสอนออกเป็นครั้งละ 3 คาบ หรือ 60 นาที ดังนั้น การสอนในแผนการสอนนี้จะแบ่งออกเป็น 5 ครั้ง นั่นคือ นำเอาเวลาในการสอนแต่ละครั้ง ซึ่งในที่นี้เท่ากับ 3 คาบไปหารจำนวนเวลาทั้งหมด ซึ่งเท่ากับ 15 คาบ จะได้เท่ากับ 5 ครั้ง นั่นคือในการสอนแผนการสอนเรื่อง อุบัติเหตุและการป้องกันนี้ แบ่งออกเป็นจำนวนหน่วยการสอนในชุดการสอนได้ 5 หน่วย ด้วยกันหรือเท่ากับการสอน 5 ครั้ง การหารอาจจะหารได้บางครั้ง ไม่ลงตัวก็อาจจะใช้วิธีเฉลี่ยจำนวนหน่วยการสอนในเนื้อหาหน่วยต่อไปก็ได้ เช่น หากในแผนการสอนนี้กำหนดไว้ 17 คาบ แทนที่จะเป็น 15 คาบ เมื่อเอา 3 ไปหารก็จะได้เท่ากับ 5 เหลือเศษอีก 2 คาบ ผู้สอนก็จะพิจารณาว่าควรจะถั่วเฉลี่ยกับแผนการสอนต่อไปอย่างไร หากเนื้อหาในแผนการสอนมีมากก็อาจจะแบ่งออกเป็น 6 หน่วยการสอนได้ แต่ถ้าหากเห็นว่ามีเนื้อหาน้อย ก็อาจมจะแบ่งออกเป็น 6 หน่วยการสอนได้ แต่ถ้าหากเห็นว่ามีเนื้อหาน้อย ก็อาจแบ่งเป็น 5 หน่วย จำนวน 2 คาบ ที่เหลือจากแผนนี้ก็นำไปปรับเพิ่มเติมในแผนการสอนต่อไป
2. พิจารณาจากหัวข้อที่กำหนดไว้ในแผนการสอน
ในแผนการสอนโดยทั่วไปแล้วจะไม่เสนอเนื้อหาโดยละเอียด แต่จะเสนอหัวข้อของเนื้อหา
ไว้ให้ผู้สอนจะต้องมาพิจารณาหัวข้ออีกครั้งว่า ในแต่ละครั้งของการสอนหรือแต่ละหน่วยการสอนนั้นๆ จะสอนเนื้อหาอะไรบ้าง เช่น จากแผนการสอน เรื่อง อุบัติเหตุและการป้องกันในแผนการสอนกำหนดไว้ดังนี้

แผนการสอนที่ 4 อุบัติเหตุและการป้องกัน จำนวน 15 คาบ
1) ความหมายของอุบัติเหตุ
2) สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในกรณีต่าง ๆ
- การใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ในบ้านและโรงเรียน
- การสัญจร
- การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า
- อัคคีภัย
3) การป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
จากเนื้อหาดังกล่าว เราอาจจะนำเอาหัวข้อทั้ง 3 หัวข้อ มาพิจารณาแบ่งเป็นหน่วยการสอน สำหรับการสอนแต่ละครั้งได้ โดยจำนวนหน่วยในแผนการสอนนี้จะมีจำนวน 5 หน่วยการสอน แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาอีกว่าเนื้อหาในแต่ละหัวข้อดังกล่าว มีเนื้อหาที่มีความยาวหรือความยากง่ายใกล้เคียงกันหรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากว่าในแต่ละหน่วยจะใช้เวลาสอนที่เท่า ๆ กัน คือ 3 คาบ หรือ 60 นาที แต่ถึงแม้ว่าขนาดของเนื้อหามีไม่เท่ากันก็ตาม ส่วนมี่ต้องพิจารณาต่อไป ก็คือ กิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละหัวข้อ เพื่อที่จะทำให้การสอนเนื้อหาและกิจกรรมการสอนใช้เวลาเหมาะสมกับเวลาที่กำหนดไว้
3. พิจารณาจากจุดประสงค์ในการสอนของแผนการสอนนั้นๆ
โดยปกติ จุดประสงค์ในแผนการสอนมักจะเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ซึ่งลักษณะจุด
ประสงค์เชิงพฤติกรรม จะเป็นตัวกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนด้วย ตัวอย่างเช่น จากแผนการสอน เรื่องอุบัติเหตุและการป้องกัน
จุดประสงค์
3.1 บอกความหมายของอุบัติเหตุ สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้
3.2 ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนได้ด้วยความปลอดภัย
3.3 เสนอแนะวิธีป้องกันและหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดจากอุบัติเหตุ อัคคีภัย ไฟฟ้าและการสัญจรไปมาได้
3.4 สาธิตวิธีปฎิบัติตนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุได้
3.5 ปฎิบัติตนในการป้องกันและหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดจากอุบัติเหตุ อัคคีภัย ไฟฟ้า และการสัญจรไปมาได้
นำจุดประสงค์แต่ละข้อมาพิจารณาได้ดังนี้
จุดประสงค์ที่ 1 จะเห็นได้ว่ า กิจกรรมการสอนของผู้สอนอาจใช้วิธีสอนแบบบรรยายประกอบแผ่นใน แล้วให้ผู้เรียนบอกความหมายของอุบัติเหตุ
จุดประสงค์ที่ 2 เมื่อกำหนดจุดประสงค์ให้นักเรียนใช้เครื่องมือ ผู้สอนจะต้องสอนให้ผู้เรียนรู้จัดเครื่องมือ สาธิตวิธีใช้เครื่องมือ และอาจต้องให้ผู้เรียนได้ทดลองปฎิบัติการใช้เครื่องมือ
จุดประสงค์ที่ 3 ในขั้นนี้ผู้เรียนต้องมีความสามารถวิเคราะห์สิ่งที่เรียนรู้ โดยผู้เรียนสามารถเสนอแนะวิธีป้องกันและหลีกเลี่ยงอันตรายได้ ผู้สอนจะต้องให้ความรู้โดยการบรรยายและอาจให้ผู้เรียนได้อภิปรายเสนอแนะวิธีป้องกันดังกล่าว
จุดประสงค์ที่ 4 ในขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนแสดงความเข้าใจในสิ่งที่เรียนด้วยกัน โดยสามารถอธิบายสาธิตวิธีการปฎิบัติตนเพื่อป้องกันเหตุ ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้ดำเนินการสาธิต
จุดประสงค์ที่ 5 ในขั้นนี้เป็นขั้นของการประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้ในชีวิตจริง ดังนั้นผู้เรียนจะต้องเรียนรู้และเข้าใจเนื้อหา และมีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติตน ผู้สอนจึงต้องใช้วิธีการหลาย ๆ อย่าง เช่น บรรยายให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ หรือใช้วิดิทัศน์เป็นเครื่องมือปสดงอันตรายที่เกิดจากการไม่ป้องกันหรือระมัดระวังตน เป็นต้น
จากการพิจารณาจุดประสงค์ จะช่วยให้ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเนื้อหา ในแต่ละหน่วยการสอนได้ง่ายขึ้น
4. พิจารณากิจกรรมการเรียนการสอนที่เสนอแนะในแต่ละหัวข้อในบางหัวข้ออาจจะมีกิจกรรมการเรียนการสอนมากกว่าอีกหัวข้อก็ได้ เพราะกิจกรรมบางอย่างอาจจะใช้เวลานานกว่ากิจกรรมในบางเนื้อหา ดังนั้น เมื่อพิจารณาหัวข้อในการแบ่งหน่วยก็มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงกิจกรรมการเรียนการสอนประกอบไปด้วย
รายละเอียด

ไม่มีความคิดเห็น: