วันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ชุดการสอน 4 (ศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์)

การทดลองใช้และหาประสิทธิภาพชุดการสอน

4.1 การทดลองใช้และหาประสิทธิภาพชุดการสอน
เมื่อทำการผลิตชุดการสอนขึ้นมาแล้ว ผู้ผลิตจำเป็นจะต้องทำการประเมินผลสื่อประสมที่ผลิตขึ้นมานี้เสียก่อนที่จะนำไปใช้ในสภาพจริงต่อไปการประเมินผลชุดการสอนก็คือ การหาประสิทธิภาพของชุดการสอนนั่นเอง (Developmental Testing) ซึ่งก็คือ การนำชุดการสอนนั้นๆไปทดลองใช้ (Tryout) โดยการนำไปใช้ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้เพื่อนำข้อมูลมาปรับปรุงแก้ไขแล้วจึงนำไปสอนจริง (Trial run) ต่อไป ผู้ผลิตชุดการสอนจำเป็นต้องทดสอบหาประสิทธิภาพเพราะสาเหตุต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าชุดการสอนที่สร้างขึ้นมามีคุณภาพ
2. เพื่อให้แน่ใจได้ว่าชุดการสอนสามารถทำให้การเรียนการสอนบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริง
3. เพื่อเป็นหลักประกันได้ว่า เมื่อผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก ๆ แล้ว สามารถใช้ได้เป็นอย่างดี คุ้มค่ากับการลงทุน
การกำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพของชุดการสอน
ชุดการสอนที่ผลิตขึ้นมาและผ่านการทดลองหาประสิทธิภาพ จะต้องให้ได้ตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้จึงจะถือได้ว่าชุดการสอนนั้นมีคุณภาพ ซึ่งเราสามารถกำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพของชุดการสอนได้เอง
เกณฑ์ประสิทธิภาพ หมายถึง ระดับประสิทธิภาพของชุดการสอนที่จะช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อยู่ในระดับที่ผู้ผลิตชุดการสอนพึงพอใจ หากชุดการสอนนั้นมีประสิทธิภาพถึงระดับแล้วชุดการสอนนั้นก็มีคุณค่าที่จะนำไปเสนอผู้เรียนได้ และให้ผลคุ้มค่าแก่การลงทุนในการผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก
ประสิทธิภาพของชุดการสอน หมายถึง คุณภาพของชุดสื่อประสมที่สร้างขึ้นมาในชุดการสอนนั้น เอื้ออำนวยเกื้อหนุนให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เข้าใจในเนื้อหาบทเรียนนั้นเป็นอย่างดีนั่นเอง
การกำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพสามารถกระทำได้โดยการประเมินผลพฤติกรรมของผู้เรียน 2 ลักษณะ คือ
พฤติกรรมต่อเนื่อง (กระบวนการ) และพฤติกรรมขั้นสุดท้าย (ผลลัพธ์)
เราจะกำหนดให้ค่าประสิทธิภาพของกระบวนการเป็น E1 และประสิทธิภาพของผลลัพธ์ เป็น E2
การประเมินพฤติกรรมต่อเนื่อง (Transitional Behavior) คือการประเมินผลต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วยพฤติกรรมย่อยๆ หลายๆ อย่างเรียกว่ากระบวนการ (Process) ของผู้เรียนซึ่งเราสามารถสังเกตได้จากการประกอบกิจกรรมกลุ่ม ( รายงานของกลุ่ม ) การปฎิบัติงานรายบุคคลอันได้แก่งานที่มอบหมายและกิจกรรมอื่นใดที่ผู้สอนกำหนดไว้
การประเมินพฤติกรรมขั้นสุดท้าย (Terminal Behavior) คือ การประเมินผลผลลัพธ์ เป็นการประเมินผลสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนของผู้เรียนในเนื้อหาแต่ละหน่วย โดยพิจารณาผลการสอบหลังเรียน ประสิทธิภาพของชุดการสอนจะพิจารณาจากเกณฑ์ที่ผู้ผลิตชุดการสอนจะได้กำหนดขึ้นว่า ผู้เรียนจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในระดับใด จึงจะเป็นที่ยอมรับได้ว่าอยู่ในระดับเป็นที่น่าพอใจ โดยจะกำหนดไว้ 2 ส่วน คือ ในส่วนของกระบวนการและประสิทธิภาพของผลลัพธ์ โดยกำหนดเป็นเปอร์เซ็นต์ของผลเฉลี่ยของคะแนนแบบฝึกหัด หรือกิจกรรมอื่นใดที่กำหนดไว้ในชุดการสอนของผู้เรียนทุกคน ( E1) และเปอร์เซ็นต์ของผลเฉลี่ยของผลการสอบหลังเรียนของผู้เรียน (E2) นั่นคือ E1/E2 จะเท่ากับ ประสิทธิภาพของกระบวนการ/ประสิทธิภาพของผลลัพธ์
ความหมายในการตั้งเกณฑ์นั้น ถ้าหากเราตั้งเกณฑ์ค่า E1/E2 = 90 / 90 นั่น หมายความว่า เมื่อผู้เรียนเรียนจากชุดการสอนแล้ว คำนวณผลเฉลี่ยคะแนนที่ผู้เรียน คำนวณผลเฉลี่ยของคะแนนที่ผู้เรียนทุกคน สามารถทำแบบฝึกหัดหรืองานได้ผลเฉลี่ย 90 % และทำแบบทดสอบหลังเรียนได้ผลเฉลี่ย 90 % นั่นเอง การที่จะกำหนดเกณฑ์ E 1/E2 ให้มีค่าเท่าใด ผู้ผลิตชุดการสอนจะเป็นผู้พิจารณา ตั้งได้ตามความเหมาะสม โดยปกติเนื้อหาวิชาที่เป็นความรู้ ความจำ ก็มักจะตั้งเกณฑ์ไว้ที่ 80/80 85/85 หรือ 90/90 ส่วนเนื้อหาวิชาที่เป็นความรู้ทางด้านทักษะหรือเจตคติที่จำเป็นจะต้องใช้ระยะค่อนข้างยาวนาน ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะหรือเปลี่ยนแปลงเจตคติได้ ดังนั้น จึงอาจตั้งต่ำกว่า เช่น 75/75 เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามผู้ผลิตก็ไม่ควรตั้งเกณฑ์ไว้ต่ำจนเกินไปนักเพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของชุดการสอนที่ได้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอได้ เนื่องจากไม่ได้มีการปรังปรุงแต่อย่างใด ซึ่งโดยปกติทั่วไปแล้วในขั้นตอนการทดลองครั้งแรกๆ จะได้ค่าประสิทธิภาพที่ต่ำแต่เมื่อได้รับการปรับปรุงแก้ไขแล้ว ค่าประสิทธิภาพของชุดการสอนก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ และในขณะเดียวกันหากได้ค่าประสิทธิภาพสูงมาก ๆ ก็ไม่ควรจะตัดสินใจยอมรับค่านั้นในทันทีเพราะค่าประสิทธิภาพที่สูง อาจจะเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น เนื้อหาที่จัดให้ง่ายกว่าของผู้เรียนหรือข้อสอบยังไม่ดีพอ โดยอาจจะเกิดจากการสร้างตัวเลือกไม่ดี เดาง่าย เป็นต้น ดังนั้น ผู้ผลิตชุดการสอนต้องตรวจสอบกระบวนการในการผลิตชุดการสอนในแต่ละขั้นว่า ถูกต้องและเหมาะสมเพียงใดอีกด้วย
รายละเอียด

ชุดการสอน 3 (ศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์)

เทคนิคและกระบวนการในการผลิตชุดการสอน

3.1 ขั้นตอนในการผลิตชุดการสอน
ขั้นที่ 1 การวิเคราะห์เนื้อหา
การวิเคราะห์เนื้อหา หมายถึง การจำแนกเนื้อหาวิชาออกเป็นหน่วยแยกย่อยลงไปจนถึงหน่วยระดับบทเรียน ซึ่งเป็นหน่วยที่ใช้สอนได้ 1 ครั้ง ชุดการสอนที่ผลิตขึ้นจึงเป็นชุดการสอนประจำหน่วยระดับบทเรียน คือ 1 ชุดการสอน สำหรับการสอนแต่ละครั้ง โดยส่วนที่จะต้องทำในการวิเคราะห์เนื้อหาคือ
1. การกำหนดหน่วย คือ การนำหน่วยเนื้อหาบทเรียนมากำหนดให้เป็นหน่วยระดับบทเรียน ซึ่งแต่ละหน่วย จะใช้สอนได้ประมาณ 60-80 นาที ( 1 คาบ มัธยม.อุดมศึกษา หรือ 3-4 คาบ ระดับประถมศึกษา )
2. การกำหนดหัวเรื่อง เป็นการนำแต่ละหน่วยมากำหนดเป็นหัวเรื่องย่อย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะนำไปสู่การจัดกิจกรรมต่างๆได้
3. การกำหนดความคิดรวบยอด เป็นการเขียนข้อความที่เป็นสาระสำคัญของแต่ละหัวเรื่อง
ขั้นที่ 2 การวางแผนการสอน
การวางแผนการสอนเป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าว่า เมื่อครูเริ่มสอนโดยใช้ชุดการสอนจะต้องทำอะไรบ้างตามลำดับก่อนหลัง
ขั้นตอนที่ 3 การผลิตสื่อการสอน
เป็นการผลิตสื่อการสอนประเภทต่างๆ ตามที่กำหนดไว้ในแผนการสอน
ขั้นตอนที่ 4 การทดสอบประสิทธิภาพชุดการสอน
เป็นการประเมินคุณภาพชุดการสอน ด้วยการนำชุดการสอนไปทดลองใช้แล้วปรับปรุงให้มีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้
ดร.วิชัย วงษ์ใหญ่ ได้อธิบายขั้นตอนในการสร้างชุดการสอนไว้ดังนี้
1. ต้องศึกษาเนื้อหาสาระของเนื้อหาวิชาอย่างละเอียดว่า สิ่งที่จะนำมาทำเป็นชุดการสอนนั้นจะมุงเน้นให้เกิดการเรียนรู้อะไรกับผู้เรียน และวิเคราะห์แบ่งหน่วยการสอนการเรียนออกเป็นเรื่องย่อยๆ และพิจารณาให้ละเอียดเพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนในหน่วยอื่นๆ ควรจะเรียงลำดับเนื้อหาตามขั้นตอนจากพื้นฐานของผู้เรียน
2. เพื่อศึกษาเนื้อหาสาระแล้ว จากนั้นจึงตัดสินใจว่าจะทำการสอนแบบใดโดยกำหนดว่าผู้เรียนคือใคร (Who is Learning) จะให้อะไรแก่ผู้เรียน ( Give What Comdition) จะทำได้กิจกรรมอย่างไร (Does What activities ) จะทำได้ดีอย่างไร ( How well Criterion ) สิ่งเหล่านี้เป็นเกณฑ์กำหนดการเรียน
3. กำหนดหน่วยการเรียนการสอน ประมาณเนื้อหาสาระว่าเราจะถ่ายทอดเนื้อหาสาระได้ตามกำหนดหน่วยการเรียนที่สนุก น่าเรียน ให้ความชื่นบานแก่ผู้เรียน หาสื่อการเรียนได้ง่าย พยายามศึกษาหลักการความคิดรวบยอดอะไรหัวข้อย่อยอะไรบ้าง แต่ละหัวเรื่องย่อยพยายามดึงเอาแกนหลักการเรียนรู้ออกมาให้ได้
4. กำหนดความคิดรวบยอด ต้องสอดคล้องกับหน่วยและหัวเรื่อง โดยการสรุปหลักการเพื่อเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียน เพราะความรวบยอดเป็นเรื่องของความเข้าใจอันเกิดจากประสบการณ์สัมผัลสิ่งแวดล้อม ซึ่งสมองจะสรุปแก่นแท้ของเรื่องนั้นๆ
5. จุดประสงค์การเรียนต้องสอดคล้องความคิดรวบยอด โดยกำหนดเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ซึ่งหมายถึงความสามารถของผู้เรียน แสดงออกมาหลังจากการเรียนแล้วถ้าผู้สอนกำหนดชัดเจนมากเท่าใด ก็ยังมีทางประสบความสำเร็จในการสอนมากเท่านั้น จึงต้องตรวจสอบจุดประสงค์การเรียนแต่ละข้อให้ถูกต้องและครอบคลุมเนื้อหา
6. การวิเคราะห์งาน คือการนำจุดประสงค์แต่ละข้อมาทำการวิเคราะห์เนื้อหากิจกรรมการเรียนการสอน จากนั้นจึงลำดับกิจกรรมการเรียนให้เหมาะสมถูกต้องกับจุดประสงค์ที่ตั้งไว้
7. เรียงลำดับกิจกรรมการเรียนการสอน ภายหลังจากที่นำจุดประสงค์การเรียนแต่ละข้อมาวิเคราะห์งานแล้ว โดยการจัดเรียงกิจกรรมทั้งหมดให้มารวมเป็นกิจกรรมการเรียนที่สมบูรณ์ที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนในการเรียน โดยคำนึงถึงพื้นฐานของผู้เรียน (Entering Behavior) วิธีดำเนินการให้เกิดขึ้นในการเรียนการสอน ( Instructional Procedures ) ตลอดจนการติดตามผล การประเมินผล การประเมินพฤติกรรมผู้เรียนที่แสดงออก เมื่อมีการเรียนการสอนแล้ว
(Performance Assevment)
8. สื่อการเรียน คือวัสดุอุปกรณ์และกิจกรรมที่ครูและนักเรียนต้องทำ เพื่อเป็นแนวทางในการเรียนรู้ ซึ่งครูต้องจัดทำและหามาไว้ให้เรีบยร้อยถ้าสื่อนั้นมีขนาดใหญ่โตหรือมีคุณค่ามากต้องจัดเตรียมเอาไว้ก่อน แล้วเขียนไว้ในคู่มือให้ชัดเจนว่าอยู่ที่ใด เช่น เครื่องบันทึกเสียง เครื่องฉายสไลด์ สิ่งของที่เก็บได้ไม่ทนทาน เน่าเปื่อยได้ เช่น ใบไม้ พืช สัตว์ เป็นต้น
9. การปะเมินผล คือ การตรวจสอบหลังการเรียนการสอนแล้ว ผู้เรียนได้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตามจุดประสงค์ที่เราตั้งใจไว้หรือไม่ การประเมินผลนี้จะใช้วิธีใดก็ได้แต่ต้องตรงกับจุดประสงค์ที่เราตั้งไว้ ถ้าหากว่าการประเมินผลไม่ตรงตามจุดหมายกำหนดไว้ ชุดการสอนที่สร้างขึ้นมาก็จะทำให้เสียเวลาและไม่มีคุณค่าตามที่ต้องการ
10. การทดลองใช้ชุดการสอน เพื่อหาประสิทธิภาพ เพื่อพิจารณารูปแบบของชุดการสอน จะสร้างออกตามลักษณะอย่างไร รูปแบบจะเป็นซอง แฟ้ม กล่องแล้วแต่ความสะดวกในการใช้ การเก็บรักษา ความสวยงาม ส่วนการหาประสิทธิภาพของชุดการสอนก็เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสม โดยการนำไปทดลองกับกลุ่มผู้เรียนขนาดเล็กๆ ดูก่อน เพื่อตรวจสอบข้อบกพร่องและแก้ไขปรับปรุงเสียก่อนจึงนำไปทดลองกับผู้เรียนกลุ่มใหญ่ ต่อไป โดยกำหนดขั้นตอนดังนี้
10.1 ชุดการสอนนี้ต้องการทราบความรู้เดิมของผู้เรียนหรือไม่
10.2 การนำเข้าสู่บทเรียนนี้มีความเหมาะสมหรือไม่
10.3 การประกอบกิจกรรมการเรียนการสอนมีความสับสนวุ่นวายกับผู้เรียนและดำเนินเป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้หรือไม่
10.4 การสรุปผลการเรียน เพื่อเป็นแนวทางไปสู่ความคิดรวบยอดหรือหลักการสำคัญของการเรียนรู้ในหน่วยนั้นๆ ดีหรือไม่หรือต้องการปรับเพิ่มเติมอย่างไร
10.5 การประเมินผลหลังเรียน เป็นการตรวจสอบพฤติกรรมการเรียนรู้ว่าเปลี่ยนหรือไม่ให้ความเชื่อมั่นมากน้อยเพียงใด
ดร.ชัยยงค์ พรหมวงค์ และคณะ ( 2521 ) ได้อธิบายขั้นตอนการผลิตชุดการสอนอย่างมีระบบ ในการผลิตขุดการสอนแผนจุฬาหรือเรียกย่อๆ ว่า CHULA PLAN โดยมีรายละเอียดขั้นตอน 10 ขั้นตอนดังนี้
1) การกำหนดหมวดหมู่เนื้อหาและประสบการณ์
เป็นการกำหนดหมวดวิชา กลุ่มประสบการณ์หรืออาจจะเป็นการบูรณาการกับเนื้อหาวิชาอื่น
2) กำหนดหน่วยการสอน
ในขั้นนี้ก็เป็นการแบ่งเนื้อหาวิชาออกเป็นหน่วย สำหรับการสอนในแต่ละครั้งซึ่งอาจเป็นหน่วยการสอนละ 60 นาที 120 นาที หรือ 180 นาที โดยจะขึ้นอยู่กับเนื้อหาวิชาหรือระดับชั้น
3) กำหนดหัวเรื่อง
เมื่อกำหนดหน่วยการสอนแต่ละครั้งได้แล้ว ก็เป็นการแบ่งเนื้อหาของหน่วยการสอนนั้นให้ย่อยลงมาอย่างที่เรียกได้ว่า หัวเรื่อง โดยพิจารณาเนื้อหาและกิจกรรมการเรียนในเนื้อหานั้นๆ ประกอบกัน
4) กำหนดมโนทัศน์และหลักการ
เป็นการกำหนดสาระสำคัญจากหัวเรื่องในหน่วยนั้นๆ โดยพิจารณาว่าในหัวเรื่องนั้น มีสาระสำคัญหรือหลักเกณฑ์อะไรที่ผู้เรียนจะต้องเรียนรู้หรือให้เกิดขึ้นหลังจากเรียนจากชุดการสอน
5) กำหนดวัตถุประสงค์
เป็นการเขียนจุดประสงค์ของการสอนในหน่วยนั้น เพื่อจะทราบได้ว่าผู้เรียนควรจะ
ต้องมีพฤติกรรมอย่างไร หลังจากที่เรียนในเรื่องนั้นแล้ว
6) กำหนดกิจกรรมการเรียน
กำหนดกิจกรรมการเรียนในชุดการสอนในแต่ละหน่วย จะต้องให้สอดคล้องกับวัตถุ
ประสงค์เชิงพฤติกรรมที่กำหนดไว้ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการผลิตสื่อการสอนต่อไป

7) กำหนดการประเมินผล
เป็นการกำหนดวิธีการที่จะวัดดูว่าผู้เรียนเรียนแล้วสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของ
หน่วยเนื้อหานั้นๆ หรือไม่ โดยพิจารณาวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรมที่เตรียมไว้
8) การเลือกและผลิตสื่อการสอน
ในการนี้จะต้องพิจารณาว่า ลักษณะเนื้อหาและลักษณะผู้เรียนตามที่กำหนดไว้สื่อ
ชนิดใดหรือกิจกรรมการเรียนแบบใดจึงจะเหมาะสมสอดคล้อง และทำให้ผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนได้มากที่สุด
9) การหาประสิทธิภาพชุดการสอน
เมื่อสร้างชุดการสอนเสร็จเรียนร้อยแล้ว จำเป็นที่จะต้องนำชุดการสอนไปทดลองใช้
เพื่อตรวจดูว่า ชุดการสอนนั้นสามารถทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามวัตถุประสงค์เพียงใดและหากพบว่า ยังมีข้อบกพร่องก็จะนำไปปรับปรุงแก้ไขจนทำให้การเรียนรู้จากชุดการสอนนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้
10) การใช้ชุดการสอน
ชุดการสอนที่ผ่านการทดลองหาประสิทธิภาพและปรับปรุงแล้วจึงจะสามารถนำ
ไปใช้ในห้องเรียนปกติได้ โดยจะมีขั้นตอนต่างๆ ในการใช้ดังนี้ คือ
10.1 ผู้เรียนทำแบบทดสอบก่อนเรียน เพื่อพิจารณาความรู้พื้นฐานของผู้เรียนก่อนเรียนเนื้อหานั้นๆ
10.2 ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน
10.3 ขั้นประกอบกิจกรรมการเรียนการสอน
10.4 ขั้นสรุปบทเรียน
10.5 ผู้เรียนทำแบบทดสอบหลังเรียน เพื่อพิจารณาว่าผู้เรียนบรรลุวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอนมากน้อยเพียงใด
3.2 เทคนิคในการผลิตชุดการสอน
การกำหนดหน่วยการสอนสำหรับชุดการสอน
ในการผลิตชุดการสอน ผู้ผลิตจะเริ่มต้นด้วยการเลือกและการกำหนดหน่วยเนื้อหา หรือประสบการณ์ที่จะผลิตชุดการสอนเสียก่อนและในขณะเดียวกันก็ต้องจัดแบ่งเนื้อหาเป็นหน่วยการสอนสำหรับชุดการสอนนั้น มีความแตกต่างจากการแบ่งหน่วยงานในแผนการสอนซึ่งอยู่ในหลักสูตร ไม่ว่าจะเป็นกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการหรือระดับอุดมศึกษาก็ตาม ซึ่งมักจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นหน่วยการสอนที่มีขนาดใหญ่ หรืออาจจะเรียกได้ว่าเป็นบทเรียนขนาดใหญ่ดังตัวอย่างเช่น การแบ่งหน่วยกลุ่มวิชาสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตในระดับประถมศึกษาปีที่ 5 เนื้อหาตามหลักสูตรจะแบ่งออกเป็นหน่วยใหญ่ ๆ ได้ 12 หน่วย คือ
หน่วยที่ 1 สิ่งมีชีวิต 142 คาบ
หน่วยที่ 2 ชีวิตในบ้าน 46 คาบ
หน่วยที่ 3 สิ่งที่อยู่รอบตัวเรา 59 คาบ
หน่วยที่ 4 ชาติไทย 119 คาบ
หน่วยที่ 5 การทำมาหากิน 75 คาบ
หน่วยที่ 6 พลังงานและสารเคมี 96 คาบ
หน่วยที่ 7 จักรวาลและอวกาศ 26 คาบ
หน่วยที่ 8 ประเทศเพื่อนบ้าน 60 คาบ
หน่วยที่ 9 การสื่อสารและการคมนาคม 27 คาบ
หน่วยที่ 10 ประชากรศึกษา 20 คาบ
หน่วยที่ 11 การเมืองและการปกครอง 25 คาบ
หน่วยที่ 12 ข่าวเหตูการและวันสำคัญ 150 คาบ

จะเห็นว่า หน่วยตามแผนการสอนในหลักสูตรระดับประถมศึกษาดังกล่าว เป็นหน่วยที่มีขนาดใหญ่มากใช้เวลาสอนหลายครั้งด้วยกัน ส่วนหน่วยการสอนที่จะใช้ผลิตชุดการสอนนั้นจะเป็นหน่วยขนาดเล็ก สำหรับที่จะใช้สอนเพียงครั้งเดียวเท่านั้น อาจจะเป็นการสอนครั้งละ 3 คาบ ในระดับประถมศึกษา ซึ่งใช้เวลา 60 นาทีเท่านั้น ส่วนในระดับมัธยมศึกษาหรือระดับอุดมศึกษาแต่ละหน่วยการสอนจะเป็น 2-3 ชั่วโมงก็ได้
ดร.ชัยยงค์ พรหมวงค์ และคณะ ( 2521:56 ) ได้อธิบายให้คำจำกัดความหน่วยการสอนสำหรับชุดการสอนไว้ว่า หมายถึง ประสบการณ์หรือความรู้เนื้อหาหรือกิจกรรมการเรียนการสอนที่ผู้สอนใช้หรือสอนแก่ผู้เรียนในแต่ละครั้งของการสอน ซึ่งความยาวของการสอนจะขึ้นอยู่กับระดับชั้นและความยุงยากของเนื้อหา เช่น ระดับประถมศึกษาจะมีความยาวประมาณ 60 นาที เพราะความสนใจของเด็กในระดับประถมศึกษา จะมีระยะเวลาจำกัดเพียง 20 นาที โดยประมาณ ในขณะที่ผู้เรียนระดับชั้นสูงขึ้นก็จะมีความตั้งใจในการเรียนยาวนานขึ้น ดังนั้นหน่วยการสอนจึงสามารถกำหนดให้ระยะเวลายาวขึ้นเป็นครั้งละ 2-3 ชั่วโมงก็ได้
จากแผนการสอนวิชา กลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตในระดับประถมศึกษาปีที่ 5 เรื่อง อวัยวะสำคัญของร่างกาย ( เวลา 15 คาบ ) เราอาจจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นหน่วยสำหรับผลิตชุดการสอนได้ดังนี้
แผนการสอนที่ 1 อวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ( เวลา 15 คาบ )
หน่วยการสอนที่ 1 อวัยวะภายนอก ( ตาและหู )
หน่วยการสอนที่ 2 อวัยวะภายนอก ( จมูกปากและผิวหนัง )
หน่วยการสอนที่ 3 อวัยวะภายใน ( ปอด )
หน่วยการสอนที่ 4 อวัยวะภายใน (หัวใจ )
หน่วยการสอนที่ 5 อวัยวะภายใน (กระเพาะอาหาร ลำไส้ ไต )
โดยที่หน่วยการสอนแต่ละหน่วยจะใช้เวลาในการสอน 3 คาบ 60 นาที ซึ่งเมื่อสอนจบทุกหน่วยการสอน ก็จะครบเนื้อหาตามกำหนด
เมื่อพิจารณาจากแผนการสอนทั้งหลักสูตร เราจะพบว่า แผนการสอนจะแบ่งเป็นหน่วยใหญ่ ๆ ทั้งหมด 1 หน่วย คาบเวลาเรียนทั้งสิ้น 843 คาบ ซึ่งหากจะแบ่งออกเป็นหน่วยสำหรับชุดการสอนก็น่าจะแบ่งได้ 281 หน่วย โดยแต่ละหน่วยการสอนก็จะใช้เวลาการสอน 3 คาบ หรือ 60 นาที ซึ่งเป็นไปตามการจัดตารางการเรียนของระดับประถมศึกษาโดยทั่วไป ดังนั้นการสอนตลอดหลักสูตรก็จะใช้สอนในชุดการสอน จำนวน 281 ครั้งนั่นเอง
ในการแบ่งหน่วยการสอนให้เป็นหน่วยเนื้อหาย่อยๆ จะช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เมื่อจะผลิตชุดการสอนจึงจำเป็นต้องจัดแบ่งหน่วยการสอนให้ย่อย ๆ ดังเหตูผลต่อไปนี้
1) จะทำให้การเรียนการสอนเป็นไปตามลำดับขั้น ตามลำดับความยากง่าย ก่อนหลังของเนื้อหา
2) ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาในแต่ละหน่วยการสอน ซึ่งจะทำให้มีกิจกรรมการสอนให้สอดคล้องกับเนื้อหาในแต่ละหน่วยการสอน ซึ่งจะทำให้มีกิจกรรมการเรียนการสอนที่หลากหลายผู้เรียนไม่เบื่อหน่าย
3) ผู้เรียนจะทราบเนื้อหาของหน่วยการสอนต่างๆ จะทำให้สามารถเตรียมตัวศึกษามาล่วงหน้าได้
แบบแผนของการแบ่งหน่วย
ในการแบ่งเนื้อหาตามหลักสูตรออกเป็นหน่วยการสอน หรือเป็นการสอนในแต่ละครั้งนั้นสามารถทำได้หลายวิธี ชัยยงค์ พรหมวงค์ และคณะ ( 2521:58 ) ได้กำหนดวิธีการแบ่งเนื้อหาในรายวิชาออกเป็นหน่วยการสอนว่า มีแบบแผนที่นิยมใช้ด้วยกัน 4 แบบ คือ
1. แบ่งหน่วยการสอนตามที่มีผู้แบ่งไว้แล้ว เช่น ในตำราหรือแบบเรียนจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นบทๆ เรียงลำดับไว้แล้วแต่ในบางครั้งจะพบว่า บางบทจะมีเนื้อหากิจกรรมมาก ในขณะที่บางบทจะมีเน้อหาและกิจกรรมน้อย ดังนั้น อาจแบ่งบทออกเป็นหน่วยการสอนที่มากกว่า 1 ครั้งก็ได้ใสบทนั้นๆ ซึ่งบางบทเนื้อหาอาจแบ่งได้เป็น 2-3 หน่วยการสอนในขณะที่บางบทอาจจะแบ่งออกได้ 5-6 หน่วยการสอนก็ได้
2. แบ่งตามความนิยมหรือรูปแบบที่เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการในแต่ละสาขาวิชา เช่น ในด้านการแพทย์ อาจจะแบ่งตามระบบอวัยวะของร่างกาย เช่น ระบบขับถ่าย ระบบย่อยอาหาร ระบบหายใจ เป็นต้น
3. แบ่งตามที่กำหนดไว้ตามแผนการสอนของหลักสูตร โดยวิธีนี้ก็ให้ดูจากแผนการสอนในหลักสูตร ซึ่งมักจะแบ่งออกเป็นหน่วยใหญ่ๆ ไว้หลายหน่วยกำหนดคาบเวลาการสอนเอาไว้ ผู้สอนนำเนื้อหาในหน่วยใหญ่ ๆ ดังกล่าวมาแบ่งออกเป็นหน่วยการสอนกได้
ตัวอย่างเช่น วิชากลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หน่วย 11 เรื่อง พื้นฐานทางการเมืองและการปกครอง เวลา 23 คาบ ซึ่งเมื่อกำหนดเวลาในการสอนไว้ครั้งละ 3 คาบ ก็อาจจะแบ่งออกเป็นหน่วยการสอนได้ดังนี้
หน่วยที่ 11 พื้นฐานทางการเมืองการปกครอง เวลา 23 คาบ
หน่วยการสอนที่ 1 ลักษณะทั่วไปของประชาธิปไตย ( ความหมายสิทธิ หน้าที่และความเสมอภาค ) 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 2 ลักษณะทั่วไปของประชาธิปไตย ( การยอมรับความคิดเห็นของบุคคลและหมู่คณะและการมีระเบียบวินัยในการอยู่ร่วมกัน)
3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 3 หน้าที่และคุณสมบัติที่ดีของผู้นำผู้ตามในระดับครอบครัวและชุมชนตำบล หมู่บ้าน อำเภอ 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 4 หน้าที่และคุณสมบัติที่ดีของผู้นำผู้ตามในชุมชนระดับจังหวัดและประเทศ 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 5 การปกครองของชุมชนและรัฐในระดับท้องถิ่น ( สภาตำบล สภาเทศบาล และสภาจังหวัด ) 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 6 การปกครองประเทศ ( รัฐธรรณนูญ ) 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 7 การปกครองประเทศ ( อำนาจนิติบัญญัติ) 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 8 การปกครองประเทศ ( อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ )
3 คาบ
4. แบ่งตามที่ผู้สอนเห็นว่าเหมาะสม วิธีนี้ไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัวการแบ่งหน่วยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้สอนอาจจะใช้ทั้ง 3 วิธีที่กล่าวมาแล้วนำมาผสมผสานกัน โดยอาจจะเพิ่มเติมเนื้อหาตามความต้องการของท้องถิ่นลงไปด้วยก็ได้

ลำดับการแบ่งหน่วยเนื้อหาออกเป็นหน่วยย่อย
ตามรูปแบบการแบ่งเนื้อหาจากแผนการสอนเพื่อความสะดวก ควรจะแบ่งเนื้อหาออกเป็นเนื้อหาย่อยตามลำดับดังนี้
1. สำหรับหน่วยที่เนื้อหามากและจำนวนคาบมาก การแบ่งหน่วยเนื้อหาที่มีจำนวนคาบมากมีการแบ่งหน่วยเนื้อหาออกเป็นหน่วยย่อย และหน่วยย่อยลงไปอีก
2. สำหรับหน่วยที่มีเนื้อหาน้อยและจำนวนคาบน้อย ในหน่วยที่มีเนื้อหาน้อยกำหนดคาบเวลาสอนไว้ไม่มาก ดังนั้น การแบ่งเนื้อหาก็มักจะแบ่งจากเนื้อหาจากหน่วย ไปเป็นหน่วยการสอนแต่ละครั้งเลย
ตัวอย่างการแบ่งเนื้อหาออกเป็นหน่วยการสอน
โดยหน่วยการสอนทั้ง 7 หน่วย อาจจะแบ่งได้ดังนี้
หน่วยย่อยที่ 3 สัตว์ 20 คาบ
หน่วยการสอนที่ 1 การดำรงชีวิตของสัตว์ 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 2 ประโยชน์ของสัตว์ด้านต่าง ๆ 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 3 การประดิษฐ์ของประดับตกแต่ง
จากวัสดุที่ได้จากสัตว์ 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 4 ผลเสียของการทำลายสัตว์ 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 5 การคุ้มครองสัตว์ 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 6 พ.ร.บ.การสงวนพันธุ์สัตว์ป่า 3 คาบ
หน่วยการสอนที่ 7 พ.ร.บ.การสงวนพันธุ์สัตว์น้ำ 3 คาบ
การแบ่งหน่วยการสอนโดยยึดหลักถือแผนการสอนจากหลักสูตร
โดยทั่วไปแล้วหลักสูตรในแต่ละระดับชั้น จะมีแผนการสอนเสนอแนวเนื้อหาและแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการประเมิณผลแก่ผู้สอน แต่ปัญหาที่ผู้สอนประสบการใช้แผนการสอนก็คือ หน่วยการสอนที่เสนอให้ในแผนการสอนมีขนาดใหญ่เกินไป ผู้สอนไม่อาจที่จะนำมาใช้ในการสอนแต่ละครั้งได้ จึงเป็นภาระแก่ผู้สอนในการที่จะแบ่งหน่วยการสอนในแผนการสอนออกเป็นหน่วยย่อย ๆ เพื่อใช้ในการสอนแต่ละครั้ง ข้อควรพิจารณาในการแบ่งหน่วยการสอนออกเป็นหน่วย สำหรับชุดการสอนมีดังนี้
1. ศึกษาแผนย่อยหรือหน่วยการสอนที่กำหนดให้
2. ศึกษาจุดประสงค์ที่กำหนดไว้
3. ศึกษาเนื้อหาที่กำหนดไว้ในแผนการสอน
4. ศึกษากิจกรรมการเรียนการสอนที่เสนอไว้ในแผนการสอน
เมื่อพิจารณาองค์ประกอบทั้ง 4 ข้อแล้ว คราวนี้ให้เอาเนื้อหาในแต่ละหน่วยออกมาแบ่ง
เป็นเนื้อหาย่อยหรือในที่นี้ก็คือ หน่วยการสอนซึ่งเป็นการสอน 1 ครั้ง ของชุดการสอนนั่นเอง
ตังอย่างการแบ่งหน่วยโดยยึดแผนการสอน เช่น วิชากลุ่มสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หน่วยที่ 1 สิ่งมีชีวิต หน่วยย่อยที่ 1 ตัวเรา แผนการสอน เรื่องอุบัติเหตูและการป้องกัน ซึ่งได้กำหนดการสอนไว้ 15 คาบ
ขั้นตอนการแบ่งหน่วย ในการแบ่งหน่วยการสอน หน่วยการสอน เรื่อง อุบัติเหตุและการป้องกัน มีขั้นตอนในการแบ่ง ดังนี้
1. พิจารณาจำนวนหน่วยโดยตรง
พิจารณาเวลาทั้งหมดในแผนการสอนซึ่งกำหนดไว้ 15 คาบ ในที่นี้โรงเรียนประถมศึกษา
โดยทั่วไปมักจะจัดการสอนออกเป็นครั้งละ 3 คาบ หรือ 60 นาที ดังนั้น การสอนในแผนการสอนนี้จะแบ่งออกเป็น 5 ครั้ง นั่นคือ นำเอาเวลาในการสอนแต่ละครั้ง ซึ่งในที่นี้เท่ากับ 3 คาบไปหารจำนวนเวลาทั้งหมด ซึ่งเท่ากับ 15 คาบ จะได้เท่ากับ 5 ครั้ง นั่นคือในการสอนแผนการสอนเรื่อง อุบัติเหตุและการป้องกันนี้ แบ่งออกเป็นจำนวนหน่วยการสอนในชุดการสอนได้ 5 หน่วย ด้วยกันหรือเท่ากับการสอน 5 ครั้ง การหารอาจจะหารได้บางครั้ง ไม่ลงตัวก็อาจจะใช้วิธีเฉลี่ยจำนวนหน่วยการสอนในเนื้อหาหน่วยต่อไปก็ได้ เช่น หากในแผนการสอนนี้กำหนดไว้ 17 คาบ แทนที่จะเป็น 15 คาบ เมื่อเอา 3 ไปหารก็จะได้เท่ากับ 5 เหลือเศษอีก 2 คาบ ผู้สอนก็จะพิจารณาว่าควรจะถั่วเฉลี่ยกับแผนการสอนต่อไปอย่างไร หากเนื้อหาในแผนการสอนมีมากก็อาจจะแบ่งออกเป็น 6 หน่วยการสอนได้ แต่ถ้าหากเห็นว่ามีเนื้อหาน้อย ก็อาจมจะแบ่งออกเป็น 6 หน่วยการสอนได้ แต่ถ้าหากเห็นว่ามีเนื้อหาน้อย ก็อาจแบ่งเป็น 5 หน่วย จำนวน 2 คาบ ที่เหลือจากแผนนี้ก็นำไปปรับเพิ่มเติมในแผนการสอนต่อไป
2. พิจารณาจากหัวข้อที่กำหนดไว้ในแผนการสอน
ในแผนการสอนโดยทั่วไปแล้วจะไม่เสนอเนื้อหาโดยละเอียด แต่จะเสนอหัวข้อของเนื้อหา
ไว้ให้ผู้สอนจะต้องมาพิจารณาหัวข้ออีกครั้งว่า ในแต่ละครั้งของการสอนหรือแต่ละหน่วยการสอนนั้นๆ จะสอนเนื้อหาอะไรบ้าง เช่น จากแผนการสอน เรื่อง อุบัติเหตุและการป้องกันในแผนการสอนกำหนดไว้ดังนี้

แผนการสอนที่ 4 อุบัติเหตุและการป้องกัน จำนวน 15 คาบ
1) ความหมายของอุบัติเหตุ
2) สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในกรณีต่าง ๆ
- การใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องใช้ในบ้านและโรงเรียน
- การสัญจร
- การใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า
- อัคคีภัย
3) การป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น
จากเนื้อหาดังกล่าว เราอาจจะนำเอาหัวข้อทั้ง 3 หัวข้อ มาพิจารณาแบ่งเป็นหน่วยการสอน สำหรับการสอนแต่ละครั้งได้ โดยจำนวนหน่วยในแผนการสอนนี้จะมีจำนวน 5 หน่วยการสอน แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาอีกว่าเนื้อหาในแต่ละหัวข้อดังกล่าว มีเนื้อหาที่มีความยาวหรือความยากง่ายใกล้เคียงกันหรือไม่ ทั้งนี้เนื่องจากว่าในแต่ละหน่วยจะใช้เวลาสอนที่เท่า ๆ กัน คือ 3 คาบ หรือ 60 นาที แต่ถึงแม้ว่าขนาดของเนื้อหามีไม่เท่ากันก็ตาม ส่วนมี่ต้องพิจารณาต่อไป ก็คือ กิจกรรมการเรียนการสอนในแต่ละหัวข้อ เพื่อที่จะทำให้การสอนเนื้อหาและกิจกรรมการสอนใช้เวลาเหมาะสมกับเวลาที่กำหนดไว้
3. พิจารณาจากจุดประสงค์ในการสอนของแผนการสอนนั้นๆ
โดยปกติ จุดประสงค์ในแผนการสอนมักจะเป็นจุดประสงค์เชิงพฤติกรรม ซึ่งลักษณะจุด
ประสงค์เชิงพฤติกรรม จะเป็นตัวกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอนด้วย ตัวอย่างเช่น จากแผนการสอน เรื่องอุบัติเหตุและการป้องกัน
จุดประสงค์
3.1 บอกความหมายของอุบัติเหตุ สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุได้
3.2 ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนได้ด้วยความปลอดภัย
3.3 เสนอแนะวิธีป้องกันและหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดจากอุบัติเหตุ อัคคีภัย ไฟฟ้าและการสัญจรไปมาได้
3.4 สาธิตวิธีปฎิบัติตนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุได้
3.5 ปฎิบัติตนในการป้องกันและหลีกเลี่ยงอันตรายที่เกิดจากอุบัติเหตุ อัคคีภัย ไฟฟ้า และการสัญจรไปมาได้
นำจุดประสงค์แต่ละข้อมาพิจารณาได้ดังนี้
จุดประสงค์ที่ 1 จะเห็นได้ว่ า กิจกรรมการสอนของผู้สอนอาจใช้วิธีสอนแบบบรรยายประกอบแผ่นใน แล้วให้ผู้เรียนบอกความหมายของอุบัติเหตุ
จุดประสงค์ที่ 2 เมื่อกำหนดจุดประสงค์ให้นักเรียนใช้เครื่องมือ ผู้สอนจะต้องสอนให้ผู้เรียนรู้จัดเครื่องมือ สาธิตวิธีใช้เครื่องมือ และอาจต้องให้ผู้เรียนได้ทดลองปฎิบัติการใช้เครื่องมือ
จุดประสงค์ที่ 3 ในขั้นนี้ผู้เรียนต้องมีความสามารถวิเคราะห์สิ่งที่เรียนรู้ โดยผู้เรียนสามารถเสนอแนะวิธีป้องกันและหลีกเลี่ยงอันตรายได้ ผู้สอนจะต้องให้ความรู้โดยการบรรยายและอาจให้ผู้เรียนได้อภิปรายเสนอแนะวิธีป้องกันดังกล่าว
จุดประสงค์ที่ 4 ในขั้นนี้เป็นขั้นที่ผู้เรียนแสดงความเข้าใจในสิ่งที่เรียนด้วยกัน โดยสามารถอธิบายสาธิตวิธีการปฎิบัติตนเพื่อป้องกันเหตุ ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้ดำเนินการสาธิต
จุดประสงค์ที่ 5 ในขั้นนี้เป็นขั้นของการประยุกต์ใช้สิ่งที่เรียนรู้ในชีวิตจริง ดังนั้นผู้เรียนจะต้องเรียนรู้และเข้าใจเนื้อหา และมีทัศนคติที่ดีต่อการปฏิบัติตน ผู้สอนจึงต้องใช้วิธีการหลาย ๆ อย่าง เช่น บรรยายให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติ หรือใช้วิดิทัศน์เป็นเครื่องมือปสดงอันตรายที่เกิดจากการไม่ป้องกันหรือระมัดระวังตน เป็นต้น
จากการพิจารณาจุดประสงค์ จะช่วยให้ผู้สอนสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเนื้อหา ในแต่ละหน่วยการสอนได้ง่ายขึ้น
4. พิจารณากิจกรรมการเรียนการสอนที่เสนอแนะในแต่ละหัวข้อในบางหัวข้ออาจจะมีกิจกรรมการเรียนการสอนมากกว่าอีกหัวข้อก็ได้ เพราะกิจกรรมบางอย่างอาจจะใช้เวลานานกว่ากิจกรรมในบางเนื้อหา ดังนั้น เมื่อพิจารณาหัวข้อในการแบ่งหน่วยก็มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาถึงกิจกรรมการเรียนการสอนประกอบไปด้วย
รายละเอียด

ชุดการสอน 2 (ศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์)

ทฤษฎีทางจิตวิทยาการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กัน

2.1 ทฤษฎีการเรียนรู้ที่นำมาใช้ในการผลิตชุดการสอน
ทฤษฎีการเรียนรู้นั้นมีกลุ่มใหญ่ ๆ ที่สำคัญๆ อยู่ 3 กลุ่ม คือ
1. กลุ่มพุทธินิยม (Cognitive)
2. กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)
3. กลุ่มมนุษยนิยม (Humanism)
ในแต่ละกลุ่มก็จะมีความเชื่อที่แตกต่างกันไป แต่ละทฤษฎีก็มุ่งที่จะยึดหลักการและทฤษฎีของตน เพื่อให้การเรียนการสอนประสบความสำเร็จ การผลิตชุดการสอนก็พยายามที่จะนำหลักการทฤษฎีทั้ง 3 กลุ่มนี้ มาใช้ในการสร้างหรือออกแบบเรียนในชุดการสอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ โดยอาจจะเน้นที่ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ดังจะให้เห็นแนวคิดทฤษฎีของกลุ่มต่างๆดังนี้

1. กลุ่มพุทธินิยม (Cognitive)
แนวคิดกลุ่ม (Cognitive) เห็นว่าการศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์นั้นมองเพียงพฤติกรรมที่แสดงออกอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ ควรจะคำนึงถึงกระบวนการทางสมอง หรือกระบวนการทางความคิดเห็นซึ่งเป็นสาเหตุของพฤติกรรมโดยตรง ซึ่งนักจิตวิทยากลุ่มนี้จะมองเกี่ยวกับเรื่องการเรียนรู้ว่าเป็นเรื่องของการเกิด Insight หรือเป็นการเปลี่ยนแปลงความคิดเดิม และการเรียนรู้ซึ่งจะนำไปสู่ Insight นักจิตวิทยากลุ่มนี้ได้แก่ Bruner. Lewin. Kohler. Ausubel

การนำแนวคิดของกลุ่ม Cognitive มาใช้ในการเรียน
1. สร้างบรรยากาศที่มีลักษณะเป็นกันเอง นักเรียนควรรู้สึกมีอิสระที่จะแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องกลัวการหัวเราะเยาะเย้ย สร้างบรรยากาศที่จะช่วยให้นักเรียนได้มองเห็นความสัมพันธ์ของข้อมูลต่างๆได้ด้วยตนเอง ให้ถือเสียว่าการกระทำผิดพลาดเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
2. การอภิปรายโดยมีโครงสร้างเสนอข้อความหรือคำถามเพื่อกระตุ้นให้เกิด Insight การจัดสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญของการเรียนการสอนแบบ Discovery ที่จะก่อให้เกิด Insight
3. การอภิปรายถ้าออกนอกทางที่ครูกำหนดไว้ ให้พยายามดึงกลับเข้าเดิมไม่ให้เสียบรรยากาศ
4. การจัดบทเรียนโดยมีโครงสร้าง ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ การที่จะต้องจัดบทเรียนให้มีโครงสร้าง ก็เพื่อจะช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จในการเรียนบทต่างๆ
การนำหลักการ Cognitive มาใช้ในชุดการสอน
จากความเชื่อการจัดบทเรียนโดยมีโครสร้างถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจความสำคัญของสิ่งต่างๆลักษณะของชุดการสอนก็เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนพบคำตอบด้วยตนเอง ซึ่งนำหลักการที่ว่าเมื่อมนุษย์ทำสิ่งใดแล้วจะต้องการความสำเร็จและต้องการทราบผลทันทีชุดการสอนจะจัดเนื้อหาให้เป็นระบบซึ่งก็เข้าหลักการของ Cognitive ที่ว่าการจัดบทเรียนโดยมีโครงสร้าง เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจความสัมพันธ์ของเนื้อหาเรื่องอย่างต่อเนื่องระหว่างความรู้ใหม่กับความรู้เดิม ชุดการสอนเริ่มต้นด้วยการ pre – test และจบลงด้วยการ post – test ซึ่งคล้ายหลักการของ Ausubel ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบความรู้เดิมของผู้เรียนก่อนและจะต้องมีการลงท้ายด้วย post – test นอกจากนั้นกิจกรรมของ Discovery มุ่งกิจกรรมในเรื่องศูนย์การเรียนซึ่งเป็นการวางแผนของแต่ละบุคคล ซึ่งศูนย์การเรียนนั้นมีชุดการสอนเป็นเครื่องสำคัญในการจัดกิจกรรมศูนย์

2. กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)
กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism หรือ S-R Associations) นักจิตวิทยาในกลุ่มนี้ให้ความสนใจศึกษาพฤติกรรมอย่างชัด ซึ่งสามารถวัดได้สังเกตได้และทดสอบได้ แนวความคิดกลุ่มนี้ ถือว่าสิ่งแวดล้อมหรือประสบการณ์จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมและการเรียนรู้จะเกิดขึ้นเมื่อเชื่อมโยงสิ่งเร้าและการตอบสนอง การแสดงพฤติกรรมจะมีความถี่มากขึ้น ถ้าหากได้รับการเสริมแรงนักจิตวิทยาในกลุ่มนี้ได้แก่ Pavlov. Watson . Skinner . Thorndike. ซึ่ง Skinner ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเรียนรู้ว่า การเรียนรู้มี 2 ชนิด คือ
1. Classical Conditioning ซึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการมีสิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้นให้คนแสดงพฤติกรรม ซึ่งมีลักษณะเป็นไปโดยอัตโนมัติ โดยอาศัยสิ่งเร้าที่ไม่ได้วางเงื่อนไข (UCS) เป็นพื้นฐานก่อน ถ้าอยากให้เกิดการเรียนรู้ ให้นำสิ่งเร้าที่ต้องการวางเงื่อนไข (CS) มาจับคู่กับสิ่งเร้าที่ต้องการวางเงื่อนไข (UCS) ในเวลาที่ใกล้เคียงกัน ทำซ้ำๆ(ฝึกฝน) ในที่สุดสิ่งที่วางเงื่อนไข (CU) ก็จะเกิดการตอบสนองโดยถูกวางเงื่อนไข (CR)
2. Operant Conditioning เป็นการเรียนรู้ที่ต้องเรียนต้องลงมือกระทำเองมิต้องรอให้สิ่งเร้าภายนอกมากระตุ้น แต่เกิดจากสิ่งเร้าภายในตัวผู้เรียนเองเป็นตัวกระตุ้นให้แสดงพฤติกรรม เช่น การกิน การเดิน การพูด ฯลฯ Skinner เห็นว่าพฤติกรรมของคนส่วนใหญ่จะมีลักษณะเป็น Operant Learning และสิ่งสำคัญที่ทำให้คนแสดงพฤติกรรมซ้ำเดิม คือ Reinforcement
นอกจากนั้น Skinner ยังได้แสดงความคิดเห็นว่า ข้อเสียของการจัดการศึกษาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีดังนี้
1. ครูไม่สามารถเสริมแรงได้อย่างทันท่วงที ต้องใช้เวลามากกว่าจะตรวจงานแต่ละคนเสร็จ และเมื่อเด็กสอบเสร็จแล้วก็ไม่สามารถให้ทราบผลได้ทันที
2. เนื้อหาต่างๆที่จะนำมาสอนขาดการจัดขั้นตอนอย่างงมีระบบระเบียบ บางครั้งยากเกินกว่าเด็กจะเข้าใจได้ การให้แบบฝึกหัดไม่มีความสัมพันธ์กัน
3. การเสริมแรงไม่ทั่วถึงและไม่สม่ำเสมอ เพราะมีนักเรียนเป็นจำนวนมาก ครูจึงให้การเสริมแรงแก่นักเรียนไม่ทั่วถึง

การนำหลักการ Behaviorism มาใช้ในขุดการสอน
ตามทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่ม Behaviorism นั้น การสร้างชุดการสอนได้นำหลักการเสริมแรง Skinner มาใช้ นอกจากนั้นชุดการสอนยังสามารถแก้ปัญหาของการจัดการศึกษา 3 ข้อ ข้างต้น Skinner เสนอไว้ได้ด้วย เพราะ
1. ชุดการสอนเป็นการเรียนด้วยตนเอง ผู้เรียนจะลงกระทำด้วยตนเอง ตัดสินใจในการเรียนครั้งนั้นๆ ด้วยตนเอง
2. ชุดการสอนสามารถแก้ไขปัญหาของการเสริมแรงได้อย่างทั่วถึง เพราะเด็กที่เรียนจากขุดการสอน จะสามารถทราบผลการเรียนได้อย่างทันท่วงที เท่ากับเป็นการเสริมแรง และยังสามารถแก้ปัญหาในกรณีที่นักเรียนมากแต่ครูน้อย แบ่งเบาภาระตรวจงานของครูช่วยให้นักเรียนทราบผลการทำงานของตนเองให้ทันทีโดยไม่ต้องรอผลการตรวจงานจากครู ทำให้ครูสามารถเสริมแรงเด็กได้อย่างทั่วถึง
3. ชุดการสอนมีการจัดเนื้อหาการเรียนเป็นระบบระเบียบ โดยการจัดเนื้อหาวิชาต่างๆ ที่สอนเข้าเป็นส่วนๆเรียงลำดับความยากง่ายมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เด็กประสบความสำเร็จที่ละขั้นก่อน จะได้เป็นกำลังใจให้เรียนในขั้นต่อไป

3. กลุ่มมนุษยนิยม (Humanism)
แนวคิดของกลุ่ม Humanism มีความเชื่อว่ามนุษย์มีความดีติดตัวมาแต่เกิด (good – active) มนุษย์เป็นผู้มีอิสระที่จะนำตนเองและพึงตนเองได้ มีอิสระที่จะกระทำสิ่งต่างโดยไม่ให้ผู้อื่นเดือนร้อน ซึ่งรวมทั้งตนเองด้วยมนุษย์เป็นผู้รับผิดชอบและเป็นผู้สร้างสรรค์สังคม นอกจากนั้นยังเน้นถึงการรับรู้ตนเองในด้านบวก และเชื่อว่าบุคคลจะต้องต่อสู้ดิ้นรน เพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเองให้สมบูรณ์อยู่เสมอ นักจิตวิทยากลุ่มนี้ได้แก่ Rager, Maslow, Combs.


การนำแนวความคิดของกลุ่ม Humanism มาใช้ในการเรียน
1. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนตัดสินใจเลือกสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองเท่าที่จะเป็นไปได้
2. สร้างบรรยากาศที่มีลักษณะอบอุ่นให้เป็นการยอมรับ และพยายามอย่างดีที่สุดที่จะสื่อความรู้สึกของครูที่เชื่อว่าทุกคนสามารถเรียนได้
3. ครูพยามยามทำตัวเป็นผู้อำนวยความสะดวก เป็นผู้คอยให้กำลังใจ ตลอดจนเป็นผู้คอยช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้
4. ครูแสดงอารมณ์โกรธหรือไม่พอใจกับสถานการณ์ได้ แต่มิใช่แสดงอารมณ์กับตัวเด็ก
5. ครูจะต้องรับรู้หรือมีความรู้สึกกับตนเองในด้านบวกก่อน เพราะคนที่จะเห็นว่าคนอื่นมีความสามารถนั้น จะต้องมองเห็นว่าตนเองเป็นเช่นนั้นก่อน
6. พยายามทำอย่างดีที่สุด ที่จะช่วยให้เด็กพัฒนาความรู้สึกนึกคิดกับตัวเองในด้านบวก และครูควรหัดเป็นผู้ไวต่อความรู้สึกของเด็ก เช่น พยายามมองทุกสิ่งทุกอย่างให้เห็นดังที่เด็กเห็น สะท้อนให้เห็นว่าครั้งที่ครูเป็นเด็กก็เคยมีความรู้สึกเช่นนั้นเหมือนกัน เช่น ความรูสึกกลัว ความรู้สึกอาย ฯลฯ
7. ถ้าเป็นไปได้จัดเวลาให้เด็กได้มีโอกาสทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นเอง
8. ฝึกให้เด็กทำความกระจ่างเกี่ยวกับค่านิยมของตนเอง โดยวิธีการดังต่อไปนี้
- กระตุ้นให้เด็กเห็นค่ากับสิ่งที่เลือกให้
- ช่วยให้เด็กสามารถหาตัวเลือกอื่นแทนได้ เมื่อพบกับสถานการณ์ที่ต้องเลือก
- ช่วยให้เด็กให้น้ำหนักกับตัวเลือกนั้นได้ เช่น ครูให้ตัวเลือกมา 3 ชุด ให้เด็กจัดลำดับพร้อมทั้งให้เหตุผลว่าทำไมจึงจัดลำดับเช่นนั้น
- กระตุ้นให้เลือกอย่างอิสระ
- กระตุ้นให้เด็กได้แสดงออกหรือทำตามสิ่งที่ตนเลือก
- ช่วยให้เด็กมีโอกาสแสดงพฤติกรรมตมที่ตนเองเลือกนั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก
9. ในการจัดการเรียนการสอนให้คำนึงถึง Affective Domain ควบคู่กับ Cognitive Domain ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่มมนุษยนิยม
2.2 ลักษณะและประเภทของชุดการสอน
ลักษณะของชุดการสอน
ลักษณะทั่วไปของชุดการสอนนั้น ชุดการสอน (Instruction Package) โดยแท้จริงแล้วจะประกอบด้วยชุดบทเรียน 2 ลักษณะ คือ
1. เป็นชุดการสอนสำหรับครู (Teaching Package)เป็นการรวบรวมสื่อการสอนอย่างมีระบบครบวงจรมีความสมบูรณ์ เพื่อให้ครูนำไปใช้สอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยภายในชุดการสอนจะมีสื่อและข้อแนะนำในการใช้สื่อนั้นๆ กับวิธีการสอนอย่างละเอียดชัดเจนพร้อมที่จะให้ครูนำไปใช้ได้อย่างไม่ยุ่งยาก
2. เป็นชุดการเรียน ( Learning Package) เป็นชุดสำหรับผู้เรียนโดยเฉพาะโดยมีลักษณะเป็นบทเรียนสำเร็จรูป มีสื่อการอสนหลายประเภทเพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มเล็กๆหรือเป็นรายบุคคลก็ได้
นักเทคโนโลยีการศึกษาทั้งต่างประเทศและในประเทศไทย ได้จัดแบ่งประเภทของชุดการสอนไว้หลากหลายแตกต่างกันออกไปดังนี้

ประเภทของชุดการสอน
ชุดการสอนแบ่งตามลักษณะของกิจกรรมในชุดการสอนแล้ว มี 3 ประเภท คือ
1) ชุดการสอนแบบบรรยายหรือชุดการสอนสำหรับครู
ชุดการสอนประเภทนี้ เป็นชุดสื่อประสมที่ผลิตขึ้นมาสำหรับครูใช้ประกอบการบรรยาย โดยจะกำหนดกิจกรรมการเรียนที่ครูสามารถใช้ประกอบการบรรยายเพื่อเปลี่ยนบทบาทการพูดบรรยาย ของครูให้ลดน้อยลงและเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมกิจกรรมการเรียนมากยิ่งขึ้น ภายในชุดการสอนจะจัดลำดับเนื้อหาและสื่อการสอนที่ครูจะใช้บรรยายในชั้นเรียนขนาดใหญ่ หรืออาจจะเป็นกลุ่มย่อยๆก็ได้ ครูผู้สอนจะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการใช้ชุดการสอนประเภทนี้
2) ชุดการสอนแบบกิจกรรมกลุ่มหรือชุดการสอนแบบศูนย์การเรียน
เป็นชุดการสอนที่จัดกรมมการเรียนที่มุ่งเน้นที่ตัวผู้เรียนให้ทำกิจกรรมร่วมกันโดยจะจัดกิจกรรมการเรียนในรูปแบบของศูนย์การเรียน ชุดการสอนประเภทนี้จะประกอบด้วยชุดกิจกรรมย่อยที่มีจำนวนเท่ากับศูนย์กิจกรรมที่แบ่งไว้ในแต่ละหน่วยการสอน ซึ่งในแต่ละศูนย์มีสื่อการเรียนหรือบทเรียนครบชุดตามจำนวนผู้เรียนในศูนย์กิจกรรมนั้น สื่อที่ใช้ในศูนย์จะเป็นสื่อที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เป็นรายบุคคลหรือร่วมกันทั้งกลุ่มได้ การดำเนินกิจกรรมการเรียนผู้เรียนจะปฏิบัติตามคำสั่งชี้แจงในสื่อการสอน โดยที่ครูเป็นเพียงผู้ควบคุมดูแลและประสานให้การดำเนินกิจกรรมสมบูรณ์ที่สุดเท่านั้น
3) ชุดการสอนแบบรายบุคคล
เป็นชุดสื่อประสมที่จัดระบบไว้เป็นขั้นตอน ให้ผู้เรียนใช้เรียนด้วยตนเองตามลำดับขั้นตามคงามสามารถของแต่ละบุคคล และสามารถประเมินผลความก้าวหน้าของตนเองได้ครูผู้สอนจะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาเมื่อผู้เรียนเกิดปัญหา ชุดการสอนชนิดนี้จะช่วยส่งเสริมและ พัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละบุคคลให้มีการพัฒนาไปได้จนสุดขีดความสามารถ โดยไม่ต้องเสียเวลารอคอยผู้อื่น ซึ่งชุดการสอนรายบุคคลจะเป็นลักษณะเดียวกันกับบทเรียนโมดูล (Instructional Modules ) ซึ่งมีลักษณะและองค์ประกอบเป็นหน่วยการสอนย่อย สำหรับผู้เรียนใช้ในการเรียนแบบอิสระ โดยมีส่วนประกอบดังนี้
1) หลักการและเหตุผล
2) จุดประสงค์
3) แบบทดสอบก่อนเรียน
4) กิจกรรมการเรียน
5) แบบทดสอบความรู้ด้วยตนเอง และ
6) แบบทดสอบหลังเรียน

สมศักดิ์ อภิบาลศรี (2537) ได้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างชุดการสอนแต่ละประเภท เพื่อชี้ให้เห็นถึงพื้นฐานปรัชญาที่นำมาใช้ในชุดการสอนประเภทนั้นๆ และให้เห็นถึงความแตกต่างเกี่ยวกับบทบาทของครูผู้สอน บทบาทของผู้เรียนตลอดทั้งกิจกรรมการเรียนการสอนที่กำหนดเอาไว้ในชุดการสอน ซึ่งมีข้อแตกต่างกันเพื่อให้ผู้ใช้ชุดการสอนได้เข้าใจและนำชุดการสอนเหล่านั้นไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.3 องค์ประกอบของชุดการสอน
ชุดการสอนที่ผลิตขึ้น ไม่ว่าจะเป็นแบบบรรยายกิจกรรมกลุ่มหรือชุดการสอนรายบุคคลจะประกอบด้วยสื่อประสมซึ่งอยู่ในลักษณะเป็นวัสดุ อุปกรณ์และวิธีการต่างๆที่ผู้ผลิตนำมาบูรณาการโดยใช้วิธีระบบ เพื่อให้ชุดการสอนแต่ละชุดมีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากจะพิจารณาแล้วจะเห็นว่าส่วนประกอบของชุดการสอนจะมี 4 ส่วน ที่สำคัญดังนี้
1.1 คู่มือครูหรือคู่มือการใช้ชุดการสอน
1.2 คำสั่งหรือคำชี้แจง
1.3 เนื้อหาสาระบทเรียนและสื่อ
1.4 การประเมินผล
1.) คู่มือครู
คู่มือครูหรือคู่มือการใช้ชุดการสอน เป็นเอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อให้ครูและผู้เรียนได้ศึกษาก่อนที่จะนำชุดการสอนไปใช้ โดยภายในคู่มือจะชี้แจงวิธีการใช้ชุดการสอนนั้นๆ ให้แก่ครูและผู้เรียนได้เข้าใจ เพื่อจะได้ใช้ชุดการสอนดังกล่าวได้ถูกต้องสมบูรณ์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด คูมือครูอาจจะทำเป็นเล่มโดยมีส่วนสำคัญดังนี้
2.) คำนำ
เป็นส่วนที่ผู้ผลิตชุดการสอนแสดงถึงความรู้สึกความคิดเห็นในการผลิตชุดสอนนั้นๆ เพื่อให้ครูผู้ใช้และนักเรียนได้เห็นคุณค่าของชุดการสอนและทราบถึง ประสิทธิภาพของชุดการสอน ที่ผ่านการทดลองใช้และปรับปรุงมาแล้ว
3.) ส่วนประกอบของชุดการสอน
ผู้ผลิตควรจะได้บอกรายละเอียดของชุดการสอนไว้ว่า มีอะไรบ้างในชุดการสอนนั้นทั้งที่เป็นวัสดุ สื่อต่างๆ ที่มีเพื่อให้ผู้ใช้ได้ตรวจสอบก่อนนำไปใช้และหากชำรุด สูญหาย ก็สามารถจัดหาเพิ่มเติมได้
4.) คำชี้แจงสำหรับครูหรือผู้ใช้ชุดการสอน
ในชุดการสอนจำเป็นต้องเขียนคำชี้แจงต่างๆ ให้ผู้ที่จะนำชุดการสอนไปใช้ได้เข้าใจขั้นตอนในการใช้ชุดการสอนนั้น เพื่อจะได้ปฎิบัติได้ถูกต้องจึงจะทำให้การใช้ชุดการสอนเกิดประสิทธิภาพ
5.) สิ่งที่ครูและนักเรียนต้องเตรียม
เป็นการกำหนดสิ่งที่ครูผู้ใช้ชุดการสอนหรือนักเรียน จะต้องจัดหาเตรียมไว้ล่วงหน้าก่อนใช้ชุดการสอนนั้น ซึ่งอาจจะเป็นวัสดุ สื่อ หรืออุปกรณ์จำเป็นจะต้องใช้ในการทำกิจกรรมการเรียนการสอนที่ผู้ผลิตไม่สามารถจัดหาหรือบรรจุไว้ในชุดการสอนได้ อาทิเช่น วัสดุของจริง สิ่งของหรืออุปกรณ์ที่ใหญ่โตหรือเล็กเกินไป เป็นต้น
6.) บทบาทของครูและนักเรียน
เป็นการเขียนชี้แจงให้ครูและนักเรียนผู้ใช้ชุดการสอนเข้าใจบทบาทของตนเองในขณะใช้ชุดการสอนได้เข้าใจบทบาทของตนเอง ในขณะใช้ชุดการสอนว่าจะปฏิบัติอย่างไร
7.) การจัดชั้นเรียนและแผนผังห้องเรียน
เพื่อให้การใช้ชุดการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ผลิตจะต้องเขียนแผนผังการจัดชั้นเรียนให้เห็นด้วย โดยเฉพาะชุดการสอนแบบกิจกรรมกลุ่มจะต้องแสดงศูนย์กิจกรรมต่างๆ ตลอดถึงแนวทางการเปลี่ยนศูนย์กิจกรรมต่างๆ นั้นด้วย

8.) แผนการสอน
เมื่อจะผลิตชุดการสอน จะต้องจัดทำแผนการสอนของหน่วยการสอนนั้นๆ เอาไว้ให้ละเอียดเพื่อจะได้ให้ครูผู้ใช้ชุดหรือผู้เรียนได้ดำเนินไปตามลำดับขั้นที่วางเอาไว้ได้ถูกต้อง
9.) เนื้อหาสาระของชุดการสอน
เป็นการจัดลำดับของเนื้อหาของชุดการสอน ซึ่งอยู่ในรูปลักษณะต่างๆ เป็นต้นว่าเอกสารเนื้อหา บัตรคำสั่ง บัตรเนื้อหา บัตรกิจกรรมและบัตรคำถามแบบฝึกหัดต่างๆที่ใช้ในกิจกรรมการเรียน
10.) ฉบับฝึกปฏิบัติหรือแบบฝึกหัด
เป็นเอกสารที่จะใช้ประกอบการทำกิจกรรมในชุดการสอน สำหรับให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนและทดสอบเข้าใจในบทเรียนนั้นๆ
11.) แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน
ก่อนที่จะทำกิจกรรมหรือเรียนรู้จากชุดการสอน ควรจะให้ผู้เรียนได้ทดสอบความรู้ก่อนด้วยแบบทดสอบ เพื่อจะได้ทราบว่าผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับเนื้อหาบทเรียนมากน้อยเพียงใดก่อนแล้วจึงให้ปฎิบัติกิจกรรมจากชุดการสอน หลังจากนั้นจึงทำการทดสอบหลังเรียนทันที เพื่อให้ผู้เรียนได้ทราบถึงความก้าวหน้าของตนเอง จากการเรียนรู้จากชุดการสอน โดยอาจจะใช้แบบทดสอบชุดเดียวกันกับทดสอบก่อนเรียนก็ได้
12.) กระดาษคำตอบและเฉลย
ในชุดการสอนจะต้องจัดเตรียมกระดาษคำตอบไว้ให้ผู้เรียน เพื่อทำการทดสอบก่อนและหลังการเรียนและเฉลยคำตอบ เพื่อตรวจสอบได้ด้วยตนเอง
ตัวอย่าง

ชุดการสอน 1 (ศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์)

ความหมายของชุดการสอน

จากความหมายที่นักการศึกษาและเทคโนโลยีการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ พอสรุปได้ว่าการสอน หมายถึง ชุดสื่อประสมซึ่งผลิตขึ้นมาอย่างมีระบบ มีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จในตัวเอง โดยมีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับเนื้อหาวิชาประสบการณ์ที่สามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ชุดการสอนเป็นนวัตกรรมในการผลิตและการใช้สื่อการสอน ที่เริ่มมีบทบาทต่อการเรียนการสอนทุกระดับในปัจจุบันและในอนาคต เพราะชุดการสอนจะเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะชุดการสอนเป็นระบบของการวางแผนการสอนที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของเนื้อหาวิชานั้นๆจึงทำให้เกิดประโยชน์และคุณค่าในการเรียนการสอนอย่างมาก

1.1 ความหมายของชุดการสอน
ความหมายของชุดการสอน นักการศึกษาและนักเทคโนโลยีทางการศึกษาทั้งของไทยและต่างประเทศได้ให้นิยามไว้ดังนี้
ชุดการสอน หมายถึง กระบวนการจัดเนื้อหาวิชาให้แก่ผู้เรียนอย่างมีระบบประกอบด้วยเนื้อหา ซึ่งอยู่ในรูปของสื่อการสอนประเภทต่างๆ ส่วนมากบรรจุไว้ในกล่อง และนำเคลื่อนย้ายไปในที่ต่างๆ ได้ (พงษ์ศักดิ์ ปัญจพรผล, 2518)
ชุดการสอนเป็นระบบการนำสื่อประสมที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชา และประสบการณ์ของแต่ละหน่วยมาช่วยในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ชุดการสอนนิยมจัดไว้ในกล่องหรือซอง แยกเป็นหมวดๆภายในชุดการสอนจะประกอบ ด้วยคู่มือการสอนใช้ชุดการสอน สื่อการสอนที่สอดคล้องกับเนื้อหาและประสบการณ์อาทิ เช่น รูปภาพ สไลด์เทป ภาพยนตร์ แผ่นคำบรรยาย วัสดุอุปกรณ์ เป็นต้น (ชัยยงค์ พรหมวงศ์, 2521)
ชุดการสอน หมายถึง ระบบการผลิตและการนำสื่อการเรียนหลายๆอย่างมาสัมพันธ์กันและมีคุณค่าส่งเสริมซึ่งกันและกัน สื่อการเรียนเหล่านี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า สื่อประสมนำมาใช้ให้สอดคล้องกับเนื้อหาวิชา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น (วิชัย วงษ์ใหญ่, 2525)
ชุดการสอน เป็นสื่อประสมที่ได้จากระบบการผลิตและการนำสื่อการสอนที่สอดคล้องกับวิชาและวัตถุประสงค์ ช่วยให้ผู้เรียนรู้ได้ด้วยตนเองตามความสามารถ หรือทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มให้ผู้เรียนได้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ (สันทัด ภิบาลสุข และ พิมพ์ใจ ภิบาลสุข, 2525)
ชุดการสอน หมายถึง การวางแผนโดยใช้สื่อต่างๆร่วมกันหรือหมายถึงการใช้สื่อประสมเพื่อสร้างประสบการณ์ในการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง และเป็นไปตามจุดประสงค์ที่วางไว้ โดยจัดไว้ในลักษณะเป็นซองเป็นกล่อง (วาสนา ชาวหา, 2525)
ชุดการสอน หมายถึง สื่อการเรียนหลายอย่างประกอบกันจัดเข้าไว้ด้วยกันเป็นชุด (Package) เรียกว่าสื่อประสม (Multimedia) เพื่อมุ่งให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมีชื่อเรียกหลายอย่างเช่น Learning Package, Instructional Kits หรือ Self Instructional Unit (บุญชม ศรีสะอาด, 2528)
ชุดการสอน หมายถึงการใช้สื่อการสอนตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป ร่วมกันเพื่อให้ผู้เรียนได้รับความรู้ตามที่ต้องการ สื่อนำมาใช้ร่วมกันจะต้องส่งเสริมประสบการณ์ ซึ่งกันและกันตามลำดับขั้นที่จัดไว้เป็นชุด บรรจุในกล่องหรือกระเป๋า (บุญเกื้อ ครวญหาเวช. 2530)
ชุดการสอน หมายถึง การรวมเอาวัสดุเพื่อการเรียนการสอนที่ประกอบด้วยสื่อมากกว่าหนึ่งชนิดขึ้นไป มาจัดระบบไว้อย่างเกี่ยวเนื่องกันในการสอนเนื้อหาวิชาใดวิชาหนึ่ง (วารินทร์ รัศมีพรหม, 2531)
ชุดการสอน เป็นชุดของวัสดุอุปกรณ์และกระบวนการเกี่ยวกับการเรียนการสอนที่ประกอบด้วย องค์ประกอบพื้นฐาน ได้แก่ กิจกรรมการเรียนและการประเมินผล (Gordon, 1973)
ชุดการสอน เป็นรูปแบบของการสื่อสารระหว่างครูและนักเรียน ซึ่งประกอบด้วย คำแนะนำที่จะให้นักเรียนได้ประกอบกิจกรรมการเรียนการเสนอ จนบรรลุพฤติกรรมที่เป็นผลของการเรียนรู้และเนื้อหาบทเรียนจะต้องเขียนด้วยภาษาที่ชัดเจน และสามารถสื่อความหมายให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมตามเป้าหมายได้ (Kapfer, 1972)
จากความหมายที่นักการศึกษาและเทคโนโลยีการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศที่กล่าวมาแล้ว จึงพอสรุปได้ว่าการสอน หมายถึง ชุดสื่อประสมซึ่งผลิตขึ้นมาอย่างมีระบบ มีความสมบูรณ์เบ็ดเสร็จในตัวเอง โดยมีความสัมพันธ์และสอดคล้องกับเนื้อหาวิชาประสบการณ์ที่สามารถนำมาใช้ในการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

1.2 บทบาทและความสำคัญของชุดการสอน
ชุดการสอนเป็นวัตกรรมในการผลิตและการใช้สื่อการสอน ที่เริ่มมีบทบาทต่อการเรียนการสอนทุกระดับในปัจจุบันและในอนาคต เพราะชุดการสอนจะเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพราะชุดการสอนเป็นระบบของการวางแผนการสอนที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของเนื้อหาวิชานั้นๆจึงทำให้เกิดประโยชน์และคุณค่าในการเรียนการสอนอย่างมาก ดังนั้นในปัจจุบัน ชุดการสอนจึงมีบทบาทที่สำคัญต่อการเรียนการสอนและการจัดการศึกษาพอสรุปได้ดังนี้
1. มีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการเรียนการสอน
การใช้ชุดการสอนจะทำให้ลักษณะการเรียนการสอนในชั้นเรียน เปลี่ยนแปลงไปจากการเรียนการสอนที่ยึดครูเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ มาสู่การให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมเรียนรู้ด้วยตนเอง และทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกัน โดยเนื้อหาและประสบการณ์ต่างๆ ที่สื่อการเรียนการสอนที่มีความสมบูรณ์ที่ผู้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ครูจะมีบทบาทเป็นเพียงผู้ประสานงานให้การทำกิจกรรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น สภาพของห้องเรียนจะเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวาที่ผู้เรียนมีความเคลื่อนไหวสนใจในการเรียนและทำกิจกรรม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์อย่างเต็มที่
2. มีบทบาทต่อการเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้สูงขึ้น
ชุดการสอน เป็นระบบการนำสื่อประสมที่สอดคล้องและสัมพันธ์กับจุดมุ่งหมายเนื้อหาวิชาและประสบการณ์ของหน่วยใดหน่วยหนึ่งโดยเฉพาะ มีสื่อการสอนที่อยู่ในรูปวัสดุ อุปกรณ์ หรือวิธีการต่างๆ ที่จะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมการเกิดการเรียนรู้เนื้อหาวิชาได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนเพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ได้เรียนรู้จากชุดการสอนแล้ว
3. ชุดการสอนมีบทบาทที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
จากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของปริมาณประชากรที่ต้องการศึกษาเพิ่มขึ้น และวิทยาการ ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยชุดการสอนสามารถจัดให้เกิดการเรียนรู้ได้พร้อมกันเป็นจำนวนมากๆ ได้ ชุดการเรียนรายบุคคลทั้งระบบทางไกลและใกล้เป็นต้นและนอกจากนี้ชุดการสอนยังสามารถปรับเปลี่ยนและแก้ไขให้เกิดความรู้และวิทยาการที่ใหม่ๆ ได้
4. มีบทบาทสำคัญที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ไปสู่ปรัชญาการศึกษาในแนวพัฒนาการได้
อย่างเต็มที่
โดยที่ชุดการสอน เป็นวิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นที่ตัวเรียนเป็นสำคัญ ยึดหลักให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ ครูเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำและประสานกิจกรรมให้เกิดการเรียนจากการได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนรู้จากการกระทำ (Learning by doing) อันจะทำให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์ตรงและถาวรยิ่งขึ้นได้


1.3 ประวัติความเป็นมาและพัฒนาการของชุดการสอน
ประวัติความเป็นมาของชุดการสอนในต่างประเทศนั้น การสร้างชุดการสอนเกิดขึ้นที่โรงเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกา ค.ศ.1930 โดย David Stansfield แห่งสถาบัน Ontario for studies in education ได้คิดกล่องเอนกประสงค์ขึ้นใช้สำหรับนักเรียน โดยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การสอน โดยได้ใช้ประสบการณ์จาการเรียนรู้ในเรื่องการสอนสำเร็จรูป (Programmed Learning) โดยผลิตกล่องที่เขาเรียกว่า Thirties Box กล่องการสอนนี้เขาเรียกรวมๆ ว่า The 1930 Multi Media Kit ได้รับความนิยมและเป็นที่ชื่นชอบแก่เด็กมาก จึงเรียกว่ากล่องวิเศษและพัฒนามาเป็นชุดการสอนในที่สุด
ประวัติความเป็นมาของการสร้างชุดการสอนในประเทศไทย ระบบการผลิตชุดการสอนในประเทศไทยนั้นเริ่มต้นในปีการศึกษา 2516 ที่แผนกโสตทัศนศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทาลัย ผู้ที่ริเริ่มคือ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ โดยได้ทำการวิจัยกับนิสิตปริญญาโท เปรียบเทียบการสอนแบบบรรยายกับการสอนโดยใช้ชุดการสอนยึดหลักที่ว่า การเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาผู้สอนควรให้ผู้เรียนเรียนเพียง 1 ส่วน อีก 2 ส่วน ให้ไปเสาะแสวงหาจากประสบการณ์ที่ผู้สอนเตรียมไว้ให้ซึ่งผลการวิจัยพบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่แตกต่างกันและเมื่อทดสอบหลังจากเรียนแล้ว 4 สัปดาห์ พบว่า ความคงทนในการเรียนรู้ของกลุ่มทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุม หลังจากนั้น ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ได้เปิดการอบรมการสร้างชุดการสอนขึ้นตามสถาบันต่างๆ หลายแห่งดังนี้
ก. ระดับมหาวิทยาลัย
1. คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ( วันที่ 6-10 กรกฎาคม 2517 )
2. คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( วันที่ 1-7 ตุลาคม 2517)
3. คณะพานิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( วันที่ 11-15 ตุลาคม 2517)
4. คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 2 ครั้ง ( กุมภาพันธ์ 2518 )
5. เป็นส่วนหนึ่งในโครงการอบรมคณาจารย์ของฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ครั้งที่ 1-2 ที่คณะ เศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( เดือน สิงหาคม 2518 ) และครั้งที่ 3 ที่คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( 22 มีนาคม – 2 เมษายน 2520 )
6. คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ( 9-13 เมษายน 2520 )
7. “ชุดการสอนสำหรับมหาวิทยาลัย” หน่วยพัฒนาคณาจารย์ ณ ไร่ฝึกเกษตรชลบุรี 30 มิถุนายน – 3 กรกฎาคม 2520
หลังจากปี พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา ได้จัดฝึกปฏิบัติตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ประมาณ 20 ครั้ง
ข. ระดับประถมศึกษา/มัธยมศึกษา
ในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ได้มีการนำระบบการผลิตชุดการสอนแผนจุฬาไปใช้ในการฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการแก่อาจารย์วิทยาลัยครู และครูประจำการตามส่วนต่างๆของประเทศ เพื่อใช้ระบบการสอนแบบศูนย์การเรียนและผลิตชุดการสอนให้แพร่หลาย
1.4 แนวคิดพื้นฐานและหลักการในการผลิตชุดการสอน
แนวคิดที่นำไปสู่การผลิตชุดการสอนศาสตราจารย์ ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์ ได้กล่าวถึงแนวคิดที่จะเป็นแนวทางในการผลิตชุดการสอนไว้ดังนี้
แนวคิดแรก การประยุกต์ทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล นักการศึกษาได้นำหลักจิตวิทยามาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน โดยคำนึงถึงความต้องการ ความถนัด และความสนใจของผู้เรียนเป็นสำคัญ มนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกันในด้านความสามารถ สติปัญญา ความต้องการ ความสนใจ ร่างกาย อารมณ์ สังคม และความแตกต่างปลีกย่อยอื่นๆ ดังนั้น ในการนำเอาหลักความแตกต่างเหล่านี้มาใช้ในกระบวนการเรียนรู้ ต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล วิธีการเหมาะสมที่สุดคือ การจัดการสอนรายบุคคลหรือการศึกษาตามเอกัตภาพและการศึกษาด้วยตนเอง ซึ่งล้วนแต่เป็นวิธีการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้มีอิสระในการเรียนตามสติปัญญาความสามารถและความสนใจ โดยมีครูคอยแนะนำช่วยเหลือตามความเหมาะสม ปัจจุบันได้มีการทดลองและวิจัยค้นคว้าเกี่ยวกับการสอนรายบุคคลอย่างกว้างขวางในทุกระดับการศึกษา จนเป็นที่ยอมรับว่าการสอนวิธีนี้กำลังจะก้าวหน้าไกลออกไป โดยมีเทคโนโลยีทางการศึกษาใหม่ๆ เป็นเครื่องมือช่วยให้การสอนรายบุคคลดำเนินไปตามจุดมุ่งหมายปลายทาง
แนวคิดที่สอง ความพยายามที่จะเปลี่ยนการเรียนการสอนไปจากเดิมที่เคยยึด “ครู” เป็นแหล่งความรู้หลัก มาเป็นการจัดประสบการณ์ผู้เรียนด้วยการใช้แหล่งความรู้จากสื่อการสอนแบบต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยวัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการ การนำสื่อการสอนมาใช้จะต้องจัดให้ตรงเนื้อหาและประสบการณ์ตามหน่วยการสอนของวิชาต่างๆ โดยนิยมจัดในรูปของชุดการสอน การเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ครูจะถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนเพียงหนึ่งในสามของเนื้อหาทั้งหมด ส่วนอีกสองในสามผู้เรียนจะศึกษาด้วยตนเองจากที่ผู้สอนเตรียมไว้ให้ในรูปของชุดการสอนและที่ผู้สอนชี้แหล่งและชี้ทางให้
แนวคิดที่สาม การใช้โสตทัศนูปกรณ์ได้เปลี่ยนและขยายตัวออกไปเป็นสื่อการสอนซึ่งคลุมถึงการใช้สิ่งสิ้นเปลือง ( วัสดุ ) เครื่องมือต่างๆ ( อุปกรณ์ ) และกระบวนการ
แนวคิดในเรื่องการใช้สื่อการสอนต่างๆ ได้เปลี่ยนและขยายตัวออกไป แต่เดิมนั้นการผลิตและการใช้สื่อการสอนมักออกมาในรูปต่างคนต่างผลิต ต่างคนต่างใช้เป็นสื่อเดี่ยวๆมิได้มีการจัด ระบบการใช้สื่อหลายอย่างมาผสมผสานกันให้เหมาะสม และใช้เป็นแหล่งความรู้สำหรับผู้เรียนแทนการใช้ครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียนตลอดเวลา แนวโน้มใหม่จึงเป็นการผลิตสื่อการสอนแบบประสมให้เป็นชุดการสอน อันจะมีผลต่อการใช้สื่อ “ เพื่อช่วยครูสอน “ คือครู เป็นผู้หยิบอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้เป็นการใช้สื่อการสอน “ เพื่อช่วยผู้เรียนเรียน “ คือให้ผู้เรียนหยิบและใช้สื่อการสอนต่างๆ ด้วยตัวของผู้เรียนเอง โดยอยู่ในรูปของชุดการสอน
แนวคิดที่สี่ แนวคิดเกี่ยวกับการปฏิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้เรียนผู้เรียนในห้องเรียนมีลักษณะเป็นทางเดียวคือ ครูเป็นผู้นำและผู้เรียนเป็นผู้ตาม ครูมิได้เปิดโอกาสให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี ผู้เรียนจะมีโอกาสพูดก็ต่อเมื่อครูให้พูด การตัดสินใจของผู้เรียนส่วนใหญ่มักจะตามครูผู้เรียนเป็นฝ่ายเอาใจครูมากกว่าครูเอาใจผู้เรียน ในส่วนที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนในห้องเรียนนั้น แทบจะไม่มีเลยเพราะครูส่วนใหญ่ไม่ชอบผู้เรียนคุยกันผู้เรียนจึงไม่มีโอกาสฝึกฝนทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะและเชื่อฟังและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น เมื่อเติบใหญ่จึงทำงานร่วมกันไม่ได้ นอกจากนี้ปฎิกิริยาสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนกับสภาพแวดล้อมก็มักอยู่กับเพียงชอกล์ค กระดานชอล์ค และแบบเรียนในห้องสี่เหลี่ยมแคบๆ หรือบริเวณอันไม่ค่อยสวยงามนัก ครูไม่เคยพานักเรียนออกไปสูสภาพภายนอกห้องเรียน การเรียนการสอนจึงจัดอยู่เพียงในห้องเรียนเป็นส่วนใหญ่แนวโน้มในปัจจุบันและอนาคตของกระบวนการเรียนรู้ จึงต้องนำกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์มาใช้ในการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ประกอบกิจกรรมร่วมกันทฤษฎีและกระบวนการร่วมกล่มจึงเป็นแนวคิดทางพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งนำมาสู่การจัดระบบการผลิตสื่อการสอนออกมาในรูปของชุดการสอน
แนวคิดที่ห้า แนวคิดในการนำหลักจิตวิทยาการเรียนรู้มาจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้โดยจัดสภาพการออกมา เป็นการสอนแบบโปรแกรม ซึ่งหมายถึง ระบบการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียน ( 1 ) ได้เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนการสอนด้วยตนเอง ( 2 ) มีทางทราบว่าการตัดสินใจหรือการทำงานของตนถูกหรือผิดอย่างไร ( 3 ) มีการเสริมแรงบวกที่นำมาให้ผู้เรียนภาคภูมิใจที่ได้ทำถูกหรือคิดถูกอันจะทำให้กระทำพฤติกรรมนั้นซ้ำอีกในอนาคต และ ( 4 ) ได้ค่อยเรียนรู้ไปที่ละขั้นตามความสามารถและความสนใจ อันได้แก่การสาธิตทดลองและกิจกรรมต่างๆ เดิมนั้น การผลิตและการใช้สื่อการสอนมักออกมาในรูปต่างคนต่างผลิต ต่างคนต่างใช้ เป็นสื่อเดี่ยว มิได้มีการจัดระบบการใช้สื่อหลายอย่างบูรณาการให้เหมาะสม และใช้เป็นแหล่งความรู้สำหรับนักเรียนแทนการใช้ครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้แก่นักเรียนอยู่ตลอดเวลา แนวโน้มใหม่จึงเป็นการผลิตสื่อการสอนแบบประสมให้เป็นชุดการสอน อันจะมีผลต่อการใช้ของครู คือเปลี่ยนจากการใช้สื่อ “เพื่อช่วยครูสอน” คือครูเป็นผู้หยิบใช้อุปกรณ์ต่างๆ มาเป็นการใช้สื่อการสอน “เพื่อช่วยนักเรียนเรียน” คือ ให้นักเรียนได้หยิบฉวยและใช้สื่อการสอนต่างๆ ด้วยตัวของนักเรียนเอง โดยอยู่ในรูปของชุดการสอน
จากแนวคิดทั้งหมดนั้น พอจะวิเคราะห์ให้เห็นเป็นแนวทางในการผลิตชุดการสอนได้ดังนี้
แนวคิดที่หนึ่ง แนวคิดดังกล่าวแล้ว จะเป็นแนวทางให้เกิดความคิดที่จะผลิตหรือวางแผนการสอน และผลิตสื่อประสมที่จะช่วยแก้ปัญหาหรือสนองความแตกต่างระหว่างบุคคล ที่ผู้เรียนสามารถก้าวหน้าไปตามความพร้อมความถนัด และความสามารถแต่ละคนได้อย่างเต็มที่ ในลักษณะเป็นชุดการสอนรายบุคคลหรือให้ผู้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมกลุ่มในลักษณะต่างๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้ช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ให้มากที่สุด
แนวคิดที่สอง แนวคิดนี้ก็จะเป็นการเปลี่ยนศูนย์กลางการเรียนรู้จากครูมาเป็นผู้เรียนโดยตรง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อย่างเต็มที่และมั่นคงถาวร โดยการให้ผู้เรียนได้ศึกษาเรียนรู้จากสื่อ หรือแหล่งความรู้ที่ครูถ่ายทอดหรือจัดเตรียมเอาไว้ให้ด้วยตนเองในรูปของสื่อประสมหลายๆ รูปแบบ
แนวคิดที่สาม เป็นแนวคิดที่จะเปลี่ยนรูปแบบการผลิตและนำสื่อมาใข้ในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในรูปแบบใหม่จากสื่อเดี่ยวๆ เป็นสื่อประสมที่จะช่วยให้ผู้เรียนเอง
แนวคิดที่สี่ เป็นการพยายามที่จะปรับพฤติกรรมการเรียนการสอน ระหว่างครูและนักเรียน ให้มีลักษณะมีปฎิสัมพันธ์ที่ดีจะส่งเสริมให้บรรยากาศการเรียนรู้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพส่งเสริมให้นักเรียนมีความกล้าแสดงออก กล้าตัดสินใจ มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และที่สำคัญให้นักเรียนได้ทำงานร่วมกัน อันจะเป็นผลต่อความเจริญงอกงามทางด้านอารมณ์และสังคมของนักเรียนได้เป็นอย่างดี
แนวคิดสุดท้าย แนวคิดดังกล่าว เป็นการนำหลักจิตวิทยามาใช้ในการวางแผนการสอนในหน่วยเนื้อหาวิชา เพื่อให้ผู้เรียนมีความสนใจ ได้แรงเสริมที่จะเรียนรู้ให้เกิดความก้าวหน้าต่อไปโดยยึดหลักการเรียนรู้ด้วยตนเอง และให้เห็นถึงความมีหน้าที่เกิดขึ้น ซึ่งค่อยๆเป็นไปที่ละน้อยตามลำดับขั้นในลักษณะเป็นการเรียนแบบโปรแกรมที่จัดไว้หรือเป็นชุดการสอนเป็นต้น




สรุป
จากแนวคิดของนักการศึกษา พอจะสรุปแนวคิดหลักที่นำมาใช้ในการผลิตชุดการสอนได้ดังนี้
1. การประยุกต์ทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล
2. การเรียนที่ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียน
3. การตระหนักกิจกรรมกลุ่มและปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียน หรือปฎิสัมพันธ์ภายในกลุ่ม
4. การเรียนการสอนที่เป็นการใช้สื่อการเรียนการสอนเพื่อการถ่ายโยงความรู้จากนามธรรมไปสู่ความเป็นรูปธรรม
5. การจัดสภาพแวดล้อม บรรยากาศการเรียนการสอน การเสริมแรง การเรียนตามลำดับขั้น หรือยึดหลักจิตวิทยาการเรียนรู้

การสร้างชุดการสอน ได้ยึดหลักการทฤษฎีทางการศึกษาหลายอย่างมาช่วยเป็นองค์ประกอบในการสร้าง เช่น การยึดหลักทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล หลักการยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ หลักการใช้สื่อแบบประสม หลักการสอนโดยใช้กระบวนการ กลุ่มสัมพันธ์ (Group process) และยึดหลักจิตวิทยาการเรียนรู้มาใช้ในการเรียนการสอนดังนั้นการสร้างชุดการสอนที่คำนึงถึงหลักการทฤษฎีดังกล่าว จะช่วยทำให้ชุดการสอนที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพต่อการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น

1.5 คุณค่าและประโยชน์ของชุดการสอน
ชุดการสอนแบ่งตามลักษณะการผลิตการใช้แล้วได้ 3 ประเภทด้วยกัน แต่ละประเภทจะมีลักษณะและกระบวนการที่แตกต่างกันออกไปอย่างไรก็ตาม ชุดการสอนไม่ว่าจะเป็นประเภทใดก็ตามก็จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนการสอนได้ในด้านต่างๆ ดังนี้
1) ช่วยเร้าและกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน เนื่องจากชุดการสอนเป็นชุดสื่อประสมที่มีกิจกรรม และสื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนอย่างเต็มที่ จึงทำให้ผู้เรียนสนใจในเนื้อหาบทเรียนมากขึ้น
2) สนับสนุนและสนองตอบความแตกต่างระหว่างบุคคล ชุดการสอนส่วนใหญ่มักจะจัดกิจกรรมการเรียนและสื่อประกอบ ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเป็นผู้กระทำกิจกรรมการเรียนด้วยตนเองและเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ความสามารถ หรือความต้องการของตนเองได้
3) ให้ประสบการณ์แก่ผู้เรียนในแนวทางเดียวกัน เพราะชุดการสอนเป็นสื่อประสมที่ผลิตขึ้นมาอย่างมีระบบ และเป็นไปตามวัตถุประสงค์เฉพาะของหน่วยเนื้อหานั้นๆ ผู้สอนที่แตกต่างกันก็สามารถให้ประสบการณ์ได้เหมือนกัน
4) ช่วยให้การเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นอิสระจากอารมณ์และบุคลิกภาพของผู้สอนสภาพการเรียนรู้จากชุดการสอนผู้เรียนจะทำกิจกรรมจากสื่อต่างๆ ด้วยตนเอง ครูผู้สอนจะทำหน้าที่เพียงเป็นผู้ช่วยดูแลควบคุมให้ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ได้เต็มที่เท่านั้น บุคลิกภาพของครูหรืออารมณ์ของครู จึงไม่มีผลต่อการเรียนของผู้เรียนแต่อย่างใด
5) ช่วยลดภาระและสร้างความมั่นใจให้แก่ครูผู้สอน เพราะชุดการสอนแต่ละชุดผลิตขึ้นมาเป็นหมวดหมู่ มีอุปกรณ์ กิจกรรม ตลอดจนมีข้อแนะนำชี้แจงเกี่ยวกับใช้ไว้อย่างละเอียดชัดเจนสามารถนำไปใช้ได้ทันที่
6) ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนครูหรือผู้มีประสบการณ์เฉพาะทางได้ เพราะชุดการสอน โดยเฉพาะชุดการสอนแบบกิจกรรมกลุ่ม และชุดการสอนรายบุคคลผู้เรียนสามารถเรียนด้วยตนเองและกลุ่มได้ โดยที่ไม่ต้องให้ครูหรือผู้เชี่ยวชาญสอนโดยตรงก็ได้
7) เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนตนเองในด้านความกล้าแสดงออกความ คิดเห็นการตัดสินใจ การแสวงหาความรู้ด้วยตนเองและความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม
1.6 ลักษณะของชุดการสอนที่ดี
ชุดการสอนที่ดี ควรจะมีลักษณะดังนี้คือ
1) เป็นชุดสื่อประสมที่ผลิตได้เหมาะสมสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของเนื้อหาบทเรียน
2) เหมาะสมกับประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
3) ประกอบไปด้วยสื่อหลากหลายเร้าความสนใจของผู้เรียนได้ดี
4) มีคำชี้แจงและคำแนะนำวิธีการใช้อย่างละเอียด ชัดเจน ง่ายต่อการนำไปใช้
5) มีวัสดุอุปกรณ์ ตามที่กำหนดไว้อย่างครบถ้วนในบทเรียน
6) ได้ดำเนินการผลิตอย่างเป็นระบบ ได้ปรับปรุงและทดสอบให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย
7) มีความคงทนถาวรต่อการใช้และสะดวกในการเก็บรักษา
ในการผลิตชุดการสอนนั้น หากจะพิจารณาแล้วจะมีขั้นตอนที่สำคัญที่จะต้องดำเนินการ 4 ขั้นตอนใหญ่ๆดังนี้
1. ขั้นการวิเคราะห์เนื้อหา
2. ขั้นการวางแผนการสอน
3. ขั้นการผลิตสื่อการสอน
4. ขั้นการทดสอบประสิทธิภาพของชุดการสอน
1.7 ผลการวิจัยที่สำคัญเกี่ยวกับชุดการสอน
ได้มีการวิจัย เพื่อศึกษาผลของการผลิตและการใช้ชุดการสอนไว้เป็นจำนวนมากที่สามารถสรุปผลของการวิจัยได้ดังนี้
1. การวิจัยเพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์และความคงทนในการเรียนรู้
ศิริพงศ์ พยอมแย้ม ( 2518 ) ได้ทำการวิจัยศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและความคงทนในการจำโดยการใช้ชุดการเรียนด้วยตนเองในวิชาสังคมศึกษา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า
1) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างการใช้ชุดการเรียนด้วยตนเองกันการสอนปกติ
2) เพื่อเปรียบเทียบความคงทนในการจำระหว่างการใช้ชุดการเรียนด้วยตนเองกับการสอนปกติ
3) เพื่อหาแนวทางการใช้ชุดการเรียนด้วยตนเองให้มีประสิทธิภาพทางการเรียนยิ่งขึ้น

ผลการศึกษาค้นคว้าพบว่า
1) การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างการใช้ชุดการเรียนด้วยตนเอง กับการเรียนการสอนปกติปรากฏผลว่า
1.1) นักเรียนที่เรียนจากชุดการเรียนด้วยตนเองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนไม่แตกต่าง จากนักเรียนที่เรียนจากการสอนปกติ
1.2) นักเรียนที่เรียนจากชุดการเรียนด้วยตนเองมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในแต่ละเรื่องไม่แตกต่าง จากนักเรียนที่เรียนจากการสอนปกติ
2) การเปรียบเทียบความคงทนในการจำครั้งที่ 1 กระทำภายหลังการทดลองสัปดาห์ ผลปรากฏว่า
2.1) นักเรียนที่เรียนจากชุดการเรียนด้วยตนเอง มีความคงทนในการจำสูงกว่านักเรียนที่เรียนจากการแบบสอนปกติ
2.2) การเรียนเรื่องการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 และเรื่องรัชสมัยพระนารายณ์มหาราช นักเรียนที่เรียนจากชุดการเรียนด้วยตนเองมีความคงทนในการจำสูงกว่านักเรียนที่เรียนจากการแบบสอนปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับความเชื่อมั่น .01 แต่สำหรับเรื่องการกู้เอกราชของพระนเรศวร ปรากฏว่า ความคงทนในการจำทั้งสองกลุ่มนี้ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
3) การเปรียบเทียบความคงทนในการจำครั้งที่ 2 กระทำภายหลังการทดลอง 4 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า
3.1)นักเรียนที่เรียนจากชุดการเรียนด้วยตนเองทั้ง 3 เรื่องมีความคงทนในการจำสูงกว่า นักเรียนที่เรียนจากการสอนปกติ
3.2) สำหรับการเรียนเรื่องการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 1 และเรื่องสมัยพระนารายณ์มหาราช นักเรียนที่เรียนจากชุดการเรียนด้วยตนเองมีความคงทนในการจำสูงกว่า นักเรียนที่เรียนจาการแบบสอนปกติ แต่สำหรับเรื่องการกู้เอกราชของพระนเรศวรนั้น ปรากฏว่า ความคงทนของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองไม่แตกต่าง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
บุญเลิศ เสียงสุขสันต์ (2531) ได้ทำการวิจัยศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ที่สอนโดยใช้ชุดการสอนฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์กับการสอนแบบปกติ โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยดังนี้
1.) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
2.) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ระหว่างกลุ่มที่ใช้ชุดการสอนกับการสอนปกติพบว่า
2.1) ผลสัมฤทธิ์ทางทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ในแต่ละด้านของนักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้ชุดการสอนฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และโดยการสอนปกติแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ .01 โดยนักเรียนที่สอนโดยใช้ชุดการสอนฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีผลสัมฤทธิ์ทางทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ในแต่ละด้านมากกว่านักเรียนที่สอนโดยการสอนแบบปกติ
2.2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนที่ได้รับการสอน โดยใช้ชุดการสอนฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และโดยการสอนปกติแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญ .01 โดยนักเรียนที่สอนโดยใช้ชุดการสอนฝึกทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีผลสัมฤทธิ์ทางทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์มากกว่าเรียนที่สอนโดยการสอนแบบปกติ



การวิจัยที่เกี่ยวกับการสร้างชุดการสอนและศึกษาผลของการใช้ชุดการสอน
นิศารัตน์ ศิลปเดช (2521) ได้ทำการศึกษาวิจัยและสร้างชุดการสอนวิชาประชากรศึกษาสำหรับวิทยาลัยครู โดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
1. เพื่อสร้างชุดการสอนสำหรับครู วิชา ประชากรศึกษา เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับประชาการศาสตร์
2. เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดการสอนที่สร้างขึ้นตามเกณฑ์มาตรฐาน 90/90
ผลการสร้างปรากฏว่าประสิทธิภาพของชุดการสอนทั้ง 4 ชุด เพื่อนำไปใช้สอนกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับเท่าเกณฑ์ 2 ชุด ต่ำกว่าเกณฑ์แต่ยอมรับได้ทั้ง 4 ชุด และการวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของคะแนนก่อนเรียนและหลังเรียน ปรากฏว่ามีความแตกต่าง กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
การสร้างชุดการสอน
ชลิต พุทธรักษา (2520) ได้สร้างชุดการสอนวิชา ภูมิศาสตร์ สำหรับห้องเรียนแบบศูนย์การเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยมีวัตถุประสงค์ คือ
1. เพื่อสร้างชุดการสอนวิชา ภูมิศาสตร์สำหรับห้องเรียนแบบศูนย์การเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
2. เพื่อหาประสิทธิภาพของชุดการสอนที่สร้างขึ้นตามเกณฑ์ 90/90
ผลของการสร้างและการศึกษาวิจัย ปรากฏว่า ชุดการสอนที่สร้างขึ้นทั้ง 4 ชุด มีประสิทธิภาพ 96.15/93.15,96.50/92.75 และ 97.40/94.75 ตามลำดับแสดงว่ามีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ประสิทธิภาพที่ตั้งไว้ ผลการสอบก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 แสดงว่าชุดการสอนที่สร้างขึ้นทั้ง 4 ชุดนี้ทำให้ผู้เรียนมีความรู้เพิ่มขึ้น

การศึกษาเปรียบเทียบ
พงษ์ศักดิ์ ทองพันชั่ง (2533) ได้ศึกษาเปรียบเทียบผลการเรียนโน๊ตสากลเบื้องต้นของนักเรียน ชั้นประถมปีที่ 3 ที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนตามปกติ โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัยเพิ่ม
1. เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง โน๊ตสากลเบื้องต้นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนกับการสอนปกติ
2. เปรียบเทียบเจตคติต่อการเรียนวิชาดนตรี เรื่องโน๊ตสากลเบื้องต้นของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนกับการสอนปกติ
ผลการศึกษาพบว่า ผลสัมฤทธิทางการเรียนของกลุ่มทดลองแตกต่างจากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสิถิติที่ระดับ .05 โดยคะแนนเฉลี่ยของกลุ่มสูงกว่ากลุ่มควบคุม คะแนนเฉลี่ยเจตคติการเรียนวิชาดนตรี เรื่องโน๊ตสากลเบื้องต้นของนักเรียนกลุ่มทดลองแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยกลุ่มทดลองคะแนนเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มควบคุม
จารุวรรณ บุญสิทธิ์ (2532) ได้ศึกษาเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเจตคติต่อการเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรีนชั้นประถมศึกษปีที่ 5 โดยใช้ชุดการสอนกับการสอนปกติ โดยมีวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัย
1) เพื่อสร้างชุดการสอนวิชาภาษาไทยบทที่ 2 เรื่อง “จำกับจด” และบทที่ 3 เรื่อง”เกาะหนูเกาะแมว” ตามหลักสูตรชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ของกรมวิชาการกระทรวงศึกษาธิการให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80
- เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เรียน
- เพื่อเปรียบเทียบเจตคติต่อการเรียนวิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 5 เรียนโดยใช้ชุดการสอนกับการสอนปกติ
ผลการวิจัยปรากฏว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนกลุ่มทดลองที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนสูงกว่านักเรียนโดยการสอนตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เจตคติต่อการเรียนภาษไทยของนักเรียนทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกัน
ชุดการสอนที่สร้างขึ้นทั้ง 2 ชุด มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ คือ เรื่อง จำกับจด 85.86/82.56 และ เกาะหนู เกาะแมว 86.88/81.22
พิสมัย มณีนิล (2527) ได้ทำการศึกษาวิจัยทดลองใช้ชุดการสอนวิชา ภาษาไทยของนักเรียนหนูหนวก ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย คือ
1. เพื่อสร้างชุดการสอนวิชาภาษาไทยของนักเรียนหูหนวกชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
2. เพื่อหาประสิทธิภาพชุดการสอนวิชาภาษาไทย
3. เพื่อศึกษาความคิดเห็นของครูสอนวิชาภาษาไทยและนักเรียนหูหนวก ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีต่อชุดวิชาภาษาไทย
ผลการวิจัยปรากฏดังนี้
1. ชุดการสอนวิชาภาษาไทย เรื่องปลาวาฬ ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่สร้างขึ้นมีประสิทธิภาพ 92.521/91.904 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
2. นักเรียนหูหนวก ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนด้วยชุดการสอนสูงกว่าก่อนเรียนด้วยขุดการสอนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05
3. ความคิดเห็นของครูสอนวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 6 คน ที่มีต่อชุดการสอนเกี่ยวกับเนื้อหามีคะแนนเฉลี่ยความคิดเห็นอยู่ในระดับ 3.66-4.50 เกี่ยวกับกิจกรรมที่จัดไว้ในชุดการสอนมีคะแนนเฉลี่ยความคิดเห็นอยู่ในระดับ 3.50 – 4.00 เกี่ยวกับประโยชน์ของชุดการสอน มีคะแนนความคิดเห็นอยู่ในระดับ 3.83 – 4.33 เทียบกับคะแนนที่กำหนดไว้อยู่ในช่วงที่ครูภาษาไทย มีความคิดเห็นว่าประโยชน์ของชุดการสอนมีความเหมาะสมมากที่สุดและกิจกรรมในชุดการสอนมีความเหมาะสมมาก
4. ความคิดเห็นของนักเรียนหูหนวก ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 จำนวน 25 คน ที่มีต่อชุดการสอนเกี่ยวกับเนื้อหามีความคะแนนเฉลี่ยความคิดเห็นอยู่ในระดับ 4.13 – 4.52 เกี่ยวกับกิจกรรมมีคะแนนเฉลี่ยความคิดเห็นอยู่ในระดับ 3.68 – 4.12 เกี่ยวกับประโยชน์ของชุดการสอนมีคะแนนเฉลี่ยความคิดเห็นอยู่ในระดับ 4.04 – 4.20 เทียบคะแนนที่กำหนดไว้อยู่ในช่วงนักเรียนหูหนวกมีความคิดเห็นว่า เนื้อหากิจกรรมและประโยชน์ของชุดการสอนนี้เหมาะสมมากที่สุดในการเรียนรู้เรื่องปลามหากาฬ
งานวิจัยของต่างประเทศเกี่ยวกับชุดการสอน
เดล (Dale. 1974 : 6481 – A) ได้ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างการสอนปกติกับการเรียนโดยใช้ชุดการสอนของนักศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ปรากฏว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาที่เรียนด้วยชุดการสอนดีกว่านักศึกษาที่เรียนด้วยการสอนแบบปกติ
เมลวิน (Melvin. 1975 : 4058 – A) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการออกแบบและหาความเที่ยงตรงของชุดการสอน สำหรับฝึกทักษะด้านความแตกต่างของเสียงดนตรีด้วยตนเอง โดยศึกษารูปแบบของโปรแกรมเพื่อประโยชน์สำหรับการเรียนดนตรี ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยสามารถทำให้นักเรียนเกิดทักษะในการแยกเสียงต่าง ๆ ของดนตรีได้ ผลการวิจัยพบว่าครูสามารถสร้างและนำไปใช้ในห้องเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักเรียนสามารถทำคะแนนจากแบบทสอบหลังเรียนอยู่ในเกณฑ์สูง   
ออลสัน (Olson. 1975 : 4922 – A) วิจัยเรื่อง ผลของการใช้ชุดการสอนในการศึกษาแผ่นใหม่ที่ใช้เป็นโครงการเริ่มทดลอง สำหรับโรงเรียนในเขตคานาวา เพื่อหารายละเอียดเกี่ยวกับโปรแกรมการศึกษาแผนใหม่ของโรงเรียนประถมศึกษาที่อยู่ใน และนอกโครงการเขตคานาวา มลรัฐเวอร์จิเนียตะวันตก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยให้ครูโรงเรียนในโครงการใช้ชุดการสอนที่ท้องถิ่นผลิตขึ้นเอง แต่ครูโครงเรียนนอกเขตโครงการไม่ให้ใช้ชุดการสอนเหล่านั้น ผลการศึกษาพบว่า การศึกษาโดยใช้ชุดการสอนของการศึกษาแผนใหม่สำหรับครูที่อยู่ในโครงการได้ผลดีกว่าการสอนโดยไม่ใช้ชุดการสอน
สบาเรตตา (Sbaratta. 1975 : 1280 – A) วิจัยเรื่อง การสร้างชุดการสอนเพื่อสอนเรียงความนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยบอสตันที่เรียนวิชาการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาเรียงความ และทัศนคติของนักเรียนโดยใช้ชุดการสอนกับนักเรียนที่เรียนโดยวิธีสอนปกติ ชุดการสอนแบ่งหน่วยการเรียนออกเป็น 5 หน่วย ได้แก่ การอ่าน การเล่นเกมภาษาประสบการณ์ส่วนตัว เทคนิคในการเขียนงานศึกษาค้นคว้าวิจัย การเขียนเชิงโต้แย้งและการเขียนวิจารณ์ ผลการวิจัยปรากฏว่า นักศึกษาที่เรียนโดยใช้ชุดการสอนมีความสามารถทั่วไปในการเขียนเรียงความ การเขียนโครงสร้างของประโยคและส่วนประกอบประโยคสูงกว่านักศึกษาที่สอนโดยวิธีปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และนักศึกษาที่สอนโดยใช้ชุดการสอนมีทัศนคติที่ดีกว่านักศึกษาที่สอนโดยวิธีปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
สโตน (Stone : 1975 : 690 – A) ศึกษาผลการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ตามเอกภาพ โดยใช้ชุดการสอนกับนักเรียนระดับ 7 และ 8 จำนวน 34 คน พบว่า นักเรียนระดับ 7 ที่เรียนด้วยชุดการสอนมีความรู้ทางคณิตศาสตร์ดีกว่านักเรียนระดับเดียวกันที่เรียนแบบเดิม ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ของนักเรียนระดับ 7 และ 8 ซึ่งเรียนจากชุดการสอนไม่แตกต่างจากผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ในห้องเรียนแบบธรรมดา
ชอร์เตอร์ (Shorter. 1982 : 4692 –A ) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการสร้างชุดการสอนให้ผู้เรียนศึกษาด้วยตนเอง เพื่อหาประสบการณ์ด้านวิชาชีพเกษตรกรรม เรื่อง การใช้จ่ายของนักเรียน และเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้ชุดการสอนที่เรียนด้วยตนเองกับการสอนปกติผลการวิจัยพบว่า ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มทดลองที่เรียนด้วยชุดการสอน กับการสอนปกติ
เตอร์ค (Turk. 1985 : 2436) ทำการวิจัยเกี่ยวกับการวางแผนพัฒนาการทดสอบการฟังทำนองจังหวัดดนตรีในแต่ละบุคคล โดยใช้ชุดการสอนกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ทดลองกับอาสาสมัครจำนวน 30 คน เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีอายุระหว่าง 11 -14 ปี ผลการทดลองหลังจากที่ได้ศึกษาจากชุดการสอนแล้ว พบว่าการใช้ชุดการสอนเพื่อพัฒนาการฟังทำนองจังหวะดนตรีนั้น การอธิบายเนื้อหาที่อยู่ในชุดการสอนชัดเจนดี ซึ่งก่อให้เกิดผลดีต่อบุคคลแต่ละคน ที่สามารถรับรู้และเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว หลังจากที่ใช้ชุดการสอนนี้แล้ว
วีวาส (Vival. 1985 : 605) วิจัยเกี่ยวกับการออกแบบพัฒนาและประเมินค่าของการรับรู้ทางความคิดของนักเรียนเกรด 1 ในประเทศเวเนซูเอล่า โดยใช้ชุดการสอน จากการศึกษาเกี่ยวกับความเข้าใจในการพัฒนาทักษะทั้ง 5 ด้าน คือ ด้านความคิด ด้านความพร้อมในการเรียน ด้านเชาวน์ปัญญา และด้านการปรับตัวทางสังคม กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนเกรด 1 จากโรงเรียนเรนีส กัวเทียร์ เขตรัฐมิลันดา ประเทศเวเนซูเอล่า จำนวน 241 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง 3 ห้องเรียน จำนวน 114 คน รับการสอนโดยชุดการสอน กลุ่มควบคุม 3 ห้องเรียน จำนวน 100 คน รับการสอนตามปกติ ผลการวิจัยพบว่า นักเรียนที่ได้รับการสอนโดยใช้ชุดการสอนมีความสามารถเพิ่มขึ้นทางด้านความคิด ด้านความพร้อมในการเรียน ด้านความคิดสร้างสรรค์ ด้านเชาว์ปัญญา และด้านการปรับตัวทางสังคม หลังจากได้รับการสอนด้วยชุดการสอนสูงกว่านักเรียนที่ได้รับการสอนแบบปกติ
            วิลสัน (Wilson. 1989 : 419) ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลการใช้ชุดการสอนของครู เพื่อแก้ปัญหาในการเรียนของเด็กนักเรียนช้าด้านคณิตศาสตร์ เกี่ยวกับการบวก การลบ ผลการวิจัยพบว่า ครูผู้สอนยอมรับว่าการใช้ชุดการสอนมีผลดีมากกว่าการสอนตามปกติ เป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถช่วยครูแก้ปัญหาการสอน ที่อยู่ในหลักสูตรคณิตศาสตร์สำหรับเด็กเรียนช้า